สื่อญี่ปุ่นตีข่าว‘เสี่ยหนู’ผู้ผลักดัน‘กัญชาเพื่อการแพทย์’ หวังช่วยกระตุ้นศก.ไทย

Last updated: 11 ส.ค. 2563  | 

วันที่ 11 สิงหาคม 2563 - 10:43 น.


10 ส.ค. 2563 เว็บไซต์ นสพ.The Japan Times เสนอข่าว Thailand bets on private medical marijuana to lift economy กล่าวถึงความพยายามของ อนุทิน ชาญวีรกูล (Anutin Charnvirakul) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทย ที่ต้องการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด เพื่อให้สามารถใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น ด้วยความเชื่อว่าหากทำสำเร็จจะช่วยได้ทั้งเรื่องสุขภาพ การเดินทางและการเกษตร

โดยเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของไทย มีมติเสนอหลักการให้แพทย์ภาคเอกชน รวมถึงแพทย์แผนโบราณและเกษตรกร สามารถปลูกและซื้อ-ขายกัญชาได้ทั้งส่งออกและนำเข้า ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนของการนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ทั้งนี้ ในเดือน ม.ค. 2563 กระทรวงสาธารณสุขของไทยเพิ่งเปิดตัวคลินิกกัญชาเพื่อการแพทย์ ยังไม่นับรวมคลินิกอื่นๆ อีก 147 แห่งที่ได้รับอนุญาตให้จ่ายยาที่มีส่วนผสมของกัญชา

นพ.มรุต จีรเศรษฐสิริ (Marut Jirasrattasiri) อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติอยู่แล้ว กัญชาจะเป็นอีกส่วนหนึ่งของประเทศในการรองรับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ โดยแพทย์ภาคเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตจะสามารถปลูก ผลิตและส่งออกกัญชาได้ รวมถึงเกษตรกรจะได้มีทางเลือกในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับนักลงทุนไทย ความร่วมมือระหว่างรัฐและชุมชนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ การวิจัยและการผลิต มากกว่าจะปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ หลังจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ผ่านพ้นไปและการเดินทางระหว่างประเทศได้กลับมาดำเนินการอีกครั้ง ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติก็จะมีโอกาสได้รับการรักษาโดยใช้กัญชา ซึ่งกัญชาเป็นพืชของไทยมาโดยตลอด และชาวต่างชาติก็ชื่นชอบ

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า การเกษตรและการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยคนไทย 1 ใน 3 มีอาชีพเป็นชาวนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสามารถทำรายได้ถึง 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6 แสนล้านบาทในปี 2560 มากกว่าเม็ดเงินในภาคส่วนเดียวกันที่ 2 ประเทศร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียทำได้รวมกัน กระทั่งในปี 2563 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 8.5 จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19

ไตรศุลี ไตรสรณกุล (Traisuree Taisaranakul) รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายกัญชาเพื่อการแพทย์ จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาสำหรับใช้รักษาอาการเจ็บป่วยได้มากขึ้น และช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ในประเทศไทย โดยปัจจุบันการปลูกและจ่ายกัญชาทำโดยหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรที่ถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดเท่านั้น กัญชายังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามกฎหมาย ดังนั้นจึงห้ามใช้เพื่อความบันเทิง การครอบครองรวมถึงนำเข้าอาจได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ไปจนถึงประหารชีวิต



อ้างอิง:

https://www.naewna.com/inter/510806


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้