Last updated: 22 ก.พ. 2564 |
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 - 10:17 น.
อนุทิน’ เปิดวันนี้ ‘สถาบันกัญชา’ ศูนย์กลางขับเคลื่อนสู่พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ เวลา 09.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเป็นประธานเปิดสถาบันกัญชาทางการแพทย์อย่างเป็นทางการ พร้อมมอบนโยบายการทำงานขับเคลื่อนนโยบายเรื่องกัญชาให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่7) พ.ศ.2562 เรื่องกัญชาจะถูกล็อกว่า หากจะกระทำการใดจะต้องมีหน่วยงานรัฐร่วมด้วย ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีเรื่องการแพทย์ การเกษตร รวมถึงสภากาชาดไทย ที่ยกเว้นว่าสามารถปลูก ผลิต จำหน่ายได้ และเนื่องจากประชาชนอยากปลูกหรือไปใช้ประโยชน์ต้องรวมตัวกันในรูปของสหกรณ์การเกษตร หรือ วิสาหกิจชุมชน และหาหน่วยงานของรัฐมากำกับทุกขั้นตอน
“หน้าที่ของสถาบันกัญชาฯ จะต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ ดูจุดต่างๆ ที่ต้องเชื่อมโยงระหว่างกระทรวง ทบวง กรม ล่าสุดสถาบันกัญชาฯ ทำงานร่วมกับกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ พัฒนาสายพันธุ์กัญชา ลงไปช่วยเรื่องการปลูกให้ประชาชน วิสหากิจชุมชน เราต้องทำหลายฟังก์ชั่นมาก เช่น ล่าสุดประกาศ สธ. ปลดใบ ราก ต้น ออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เราต้องทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประสานรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร รพ.คูเมือง ฯลฯ นำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาศึกษาเรื่องชาชง เป็นมิติคุ้มครองผู้บริโภค ด้านความปลอดภัยโดยสถาบันกัญชาฯ จะเป็นศูนย์กลางความร่วมมือทุกส่วนทั้งหมด” นพ.กิตติกล่าว
นพ.กิตติกล่าวว่า ประชาชนกับสถาบันกัญชาฯ จะเกี่ยวข้องกันใน 3 แง่ ประกอบด้วย 1.ความต้องการใช้ยา ซึ่งหน่วยงานรัฐในลักษณะของ รพ.ดูแลด้านนี้อยู่ สถาบันกัญชาฯ มีหน้าที่หาหน่วยบริการที่เหมาะสม เช่น ความต้องการใช้ยา การเปิดอบรมแพทย์ที่ใช้ยา โดยประสานกับ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร พัฒนาเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลว่าจะไปรับยาได้จากที่ใดบ้าง 2.ความต้องการปลูกเพื่อเศรษฐกิจ สถาบันกัญชาฯ ต้องหาโมเดลที่เหมาะสม ขณะนี้ อย.ปลดล็อกส่วนของพืชกัญชาจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 แล้ว สถาบันกัญชาฯ ก็ต้องไปช่วยเหลือประชาชนในส่วนการปลูกอย่างถูกกฎหมาย 3.กลุ่มอาชีพที่อยู่ตรงกลางระหว่างคนต้องการปลูกกับคนต้องการใช้ผลผลิต เช่น ผู้ขายเมล็ด ผู้สกัดน้ำมันกัญชาทำเป็นยา รวมถึงภาคเอกชนต่างๆ ที่อยากเข้ามาเดินหน้ากัญชาในทางเศรษฐกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นโจทย์ของสถาบันกัญชาฯ ต้องเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อนำปัญหามาสู่กระบวนการคิด เอาโมเดลไปเสนอ อย. เพื่อการดำเนินการตามกฎหมาย
“เฟสแรกจะเป็นการนำกัญชามาใช้เพื่อการแพทย์ เน้นการใช้ในยาแผนโบราณ ยาแผนปัจจุบัน ให้ผู้ป่วยเข้าถึง ต่อมาตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ สธ. ขับเคลื่อนกัญชาและกัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจ เราต้องทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะกัญชาเป็นสมุนไพรตัวหนึ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทุกประเทศกำลังมองหาพืชเศรษฐกิจ ไม่ว่ากัญชาหรือกัญชง หลายประเทศเคลื่อนไปได้เร็ว และประเทศไทยถือว่าไปได้เร็วมากเช่นกัน”นพ.กิตติกล่าว
ด้านน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลย้ำว่าประชาชนทุกครัวเรือนมีสิทธิปลูกกัญชาได้เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการปลูก สกัด และผลิต จะต้องรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนร่วมกับหน่วยงานรัฐเพื่อขออนุญาต ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มความร่วมมือรูปแบบนี้แล้วใน 46 จังหวัด ครอบคลุมประชาชนประมาณ 2,500 ครัวเรือน รพ.สต. 251 แห่ง ปลูกกัญชาไปแล้ว 15,000 ต้น รัฐบาลคาดหวังว่าตั้งแต่นี้ไปทั้งกัญชาและกัญชงจะเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจหลัก ที่เป็นทางเลือกการสร้างรายได้และสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร และเป็นพื้นฐานสำคัญของการผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต”น.ส.ไตรศุลีกล่าว
อ้างอิง
https://www.matichon.co.th/politics/news_2590284