ห่วง!! ปลดล็อก ‘กัญชา’ ควบคุมไม่ดี เยาวชนเข้าถึงง่าย ชี้ให้แนะนำการใช้ให้ดี

Last updated: 25 ก.พ. 2564  | 

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 - 13:39 น.


ห่วง!! ปลดล็อก ‘กัญชา’ ควบคุมไม่ดี เยาวชนเข้าถึงง่าย ชี้ให้แนะนำการใช้ให้ดี เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “การระบาดสารเสพติดและตลาดการค้า” เพื่อร่วมกันหาแนวทางกำหนดนโยบายสารเสพติด

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ตามที่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ได้ปรับปรุงโดยการอนุญาตให้ใช้กัญชา และพืชกระท่อม ซึ่งเป็นยาเสพติดประเภทที่ห้าตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย และการผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ และต่อมามีการประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อปลดล็อกส่วนของกัญชาและกัญชงให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ยกเว้นส่วน ช่อดอก และเมล็ดกัญชา และล่าสุด คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2 ฉบับ ให้สามารถใช้ส่วนของกัญชาและกัญชงในผลิตภัณฑ์อาหารได้นั้น กฎหมายดังกล่าวแม้จะมีข้อดีที่สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ ลดการตีตราผู้ใช้ว่าเป็นคนไม่ดี แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อเสียที่อาจทำให้เด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไปอาจนำไปเสพเพื่อความรื่นเริงมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวัง และมีการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงวิชาการ เพื่อเสนอแนวทางป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้สารเกินกฎหมายกำหนด หรือปริมาณเกินมาตรฐานที่อนุญาต อันจะส่งผลก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา อย่างไรก็ตาม ยังมีสารเสพติดผิดกฎหมายที่แพร่ระบาดต่อเนื่อง เช่น ยาบ้า ยาไอซ์ เป็นปัญหาระดับประเทศ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลในทุกระดับเพื่อร่วมกันดำเนินงานทั้งด้านการปราบปราม การป้องกัน การบำบัดรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการป้องกันการเสพติดซ้ำ



รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ขอบคุณภาพจาก : matichon.co.th


ขณะที่ รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด (ศศก.) กล่าวว่า ช่วงการระบาดโควิด-19 พบว่าผู้ผลิตสารเสพติดได้ลดต้นทุนด้วยการดัดแปลงสูตร ลดความบริสุทธิ์ของสารลง เพื่อจะได้ขายในราคาถูก เป็นสิ่งที่ผู้นำมาขายต่อไม่รู้ ผู้เสพก็ไม่รู้ ส่งผลกระทบต่อร่างกายผู้เสพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การขนส่งยาเสพติดที่ผ่านมาทำได้ยาก ยาเสพติดจึงล้นสต๊อก เมื่อเริ่มเอาออกมาขาย ทำให้ราคาถูกลง คนเข้าถึงได้ง่ายกว่าปกติ อาจทำให้มีการใช้สารเสพติดมากขึ้น จึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้


รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ขอบคุณภาพจาก : matichon.co.th


รศ.พญ.รัศมน กล่าวอีกว่า ในส่วนของกัญชา แต่ละส่วนมีสารออกฤทธิ์แตกต่างกัน การปลดล็อกก็ต้องเข้าใจว่าไม่ได้อนุญาตให้ใช้ทั้งต้น หรืออยากปลูกก็ปลูกเลย เพราะทุกอย่างจะต้องขออนุญาตกับ อย.ก่อน แม้จะปลูกไว้บริโภคเอง ก็ต้องขออนุญาต อย. ทั้งนี้ ก็อยากให้ควบคุมและแนะนำการใช้ให้ดี ว่าสารมึนเมาที่อยู่ในกัญชานี้ จะออกฤทธิ์หลังบริโภคครึ่งชั่วโมง เพราะมีหลายคนไม่รู้ พอบริโภคแล้วไม่เกิดความรู้สึก ก็ยิ่งบริโภคเข้าไปๆ จนพอสารออกฤทธิ์ก็น็อก ประสาทหลอน ติดจนหยุดไม่ได้ รวมถึงผู้ป่วยที่แบ่งยาให้เพื่อนที่ป่วยอาการเดียวกัน ด้วยจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องระวัง

ด้าน น.ส.ชวนพิศ ชุ่มวัฒนะ อดีตที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวถึงประเด็นกัญชาว่า ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมตั้งแต่เริ่มต้นการปลูกจนถึงการผลิต เพราะกัญชาใช้เพื่อทางการแพทย์ใช้ได้เฉพาะบางสายพันธุ์ จึงไม่มีอันตราย แต่ที่ผ่านมามีลักลอบปลูกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นต้องควบคุมให้ได้และสร้างความมั่นใจว่า เมื่อนำไปรักษาแล้วจะไม่เป็นอันตราย


ชวนพิศ ชุ่มวัฒนะ ขอบคุณภาพจาก : matichon.co.th


น.ส.ชวนพิศ กล่าวอีกว่า กัญชาถือเป็นพืชที่ดูดซับสารเคมีในดิน หากปลูกไม่ดีอาจดูดซับโลหะหนัก เป็นเชื้อราง่าย หากใช้ยาฆ่าเชื้อรา ใช้ยาปราบศัตรูพืช ก็จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ฉะนั้นก็อยากให้เลือกใช้ยาจากผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองจาก อย. ตรวจสอบได้ ส่วนกรณีข้อห่วงใยว่าประเทศเพื่อนบ้านปลูกกัญชารอนำเข้าแล้วนั้น ต้องบอกว่าการปลดล็อกดังกล่าว อนุญาตให้ปลูกและบริโภคภายในประเทศ ฉะนั้นการจะนำเข้ากัญชาอย่างข้อห่วงใยนี้ ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย







อ้างอิง

https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2594754


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้