Last updated: 22 ก.พ. 2564 |
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 - 10:10 น.
องค์กรผู้บริโภค เตือนสติ คณะกรรมการอาหารและยา ต้องพิจารณาเรื่องการ "ปลดล็อกกัญชา" ในอาหาร โดยคำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภค
ภายหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขปลดล็อกส่วนของพืชกัญชา-กัญชง ประกอบด้วย เปลือก, ลำต้นเส้นใย, กิ่งก้าน รากและใบ ไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วยให้พ้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 แต่ยังไม่มีการแก้ไขประกาศที่เกี่ยวข้องกับการใช้ในอาหารเพราะมีเสียงแย้งจากนักวิชาการเรื่องข้อมูลความปลอดภัยในการบริโภคเป็นอาหารยังมีไม่มากพอนั้น
ทางด้าน น.ส.มลฤดี โพธิ์อิน นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้มีการประชุมในประเด็นนี้ และมีความเห็นว่า อย.และคณะกรรมการอาหารต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและระมัดระวัง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก
เนื่องจากจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยในการใช้เปลือก, ลำต้น, กิ่งก้าน และราก และการใช้ส่วนต่างๆ เหล่านี้เป็นอาหารทั้งในและต่างประเทศ มีเพียงข้อมูลการใช้ใบในการประกอบอาหารหรือใช้ในลักษณะเครื่องเทศเพียงเล็กน้อย แต่ยังคงมีความเสี่ยงในการควบคุมปริมาณที่ใช้ จนผู้บริโภคที่มีอาการแพ้หรือกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางอาจได้รับสารต่างๆ ในกัญชาในปริมาณที่เป็นอันตรายอย่างไม่รู้ตัว
สำหรับสาร THC และ CBD ที่อยู่ในใบละลายได้ดีในอาหารที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบ และถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านระบบทางเดินอาหารได้ดี จึงมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคค่อนข้างสูง อาจเกิดผลข้างเคียงจากการบริโภค โดยเฉพาะ หญิงมีครรค์ หญิงให้นมบุตร ทารก เด็กเล็ก อาจได้รับสารนี้จากการบริโภคทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ดังที่เกิดเหตุการณ์ในออสเตรเลียเมื่อเร็วๆ นี้ คุณแม่ลูกสองซื้อบราวนี่กลับไปทานที่บ้าน ลูกสาววัย 5 ขวบที่รับประทานเข้าไปเกิดอาการพร่ามัว หวาดระแวง และกรีดร้องอย่างบ้าคลั่ง ขณะที่คุณแม่มีอาการผ่อนคลายแบบแปลกๆ ก่อนจะเกิดอาการมึนๆ แล้วหลับไป โดยที่ทางร้านใช้เนยกัญชาในการทำขนมที่อ้างว่าไว้รับประทานเอง แต่อาจปะปนไปกับสิ่งที่ขายโดยไม่ตั้งใจ
แม้แต่ทาง ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย.เอง ก็ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า ใบกัญชามีสารอื่นๆ เช่น สารเทอร์พีน (Terpene) ที่มีผลต่อความไวในการตอบสนองของคนต่างกัน ควรใส่ในปริมาณไม่มาก และต้องหลีกเลี่ยงสำหรับผู้บริโภคบางกลุ่ม เช่น คนที่มีโรคประจำตัว เด็กเล็ก โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคหัวใจ
"คำถามคือในกรณีของร้านอาหารและเครื่องดื่ม การให้ข้อมูลผู้บริโภคจะเป็นในรูปแบบใด มีความชัดเจนเพียงพอให้ผู้บริโภคได้รับทราบถึงผลข้างเคียงและความเสี่ยงหรือไม่ คำเตือนผู้บริโภคจะแสดงตรงไหนอย่างไรให้เห็นชัดเจน การกำหนดอายุผู้บริโภค ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ จะควบคุมอย่างไร เรื่องเหล่านี้ต้องกำกับดูแลและมีบทลงโทษร้านค้าที่ไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งคณะกรรมการอาหาร และ อย.ต้องพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน ไม่ใช่แค่เพียงสนองตอบนโยบาย โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและละทิ้งหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะเป็นสิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐานที่จะต้องได้รับความปลอดภัย มีข้อมูลที่เพียงพอ เพื่อใช้ในการตัดสินใจบริโภคหรือไม่บริโภค ไม่ได้มีความจำเป็นต้องบริโภคทุกวัน"
ทั้งนี้ ขณะที่ยังไม่มีการแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 378 พ.ศ.2559 เรื่องการกำหนดพืชสัตว์หรือส่วนของพืชหรือสัตว์ที่ห้ามใช้ในอาหาร ที่กำหนดให้ทั้งต้นของกัญชาหรือกัญชงห้ามใช้ในอาหาร อย.ยังต้องทำหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้น อย.จะเข้าข่ายผิด ม.157 ละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่
ทางด้าน ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้อำนวยการวิทยาลัยคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย เห็นว่า คณะกรรมการอาหารและ อย. ที่กำลังจะพิจารณาเรื่องปลดล็อกกัญชาในอาหารต้องพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน โดยคำนึงถึงหลักพิจารณาดังนี้
1. การให้ใช้มีความจำเป็นและเกิดประโยชน์ต่อส่วนร่วมอย่างไร โดยการให้ใช้เป็นอาหารคือการส่งสัญญาณสนับสนุนให้เกิดการบริโภค จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
2. ฝ่ายที่เสนอให้ปลดล็อกการใช้กัญชาในอาหารโดยไม่ต้องควบคุมต้องเสนอหลักฐานในทุกประเด็น โดยเฉพาะความปลอดภัย รวมทั้งข้อจำกัดต่างๆ และนำเสนอแนวทางป้องกันปัญหาที่มีหลักประกันได้ เพราะคนกินอาหารไม่ได้มีจำกัดเหมือนกินยา และกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง เช่น คนที่มีโรคประจำตัว เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคหัวใจ จะหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร
3. หากพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีความปลอดภัยอย่างแน่นอน อย. จำเป็นต้องใช้หลัก Precautionary Principle คือไม่เสี่ยงโดยไม่จำเป็น และยังมีทางเลือกอื่น.
อ้างอิง
https://www.thairath.co.th/news/society/2036895