ผลักดันกัญชาพืชเศรษฐกิจ ทุกครัวเรือนปลูกได้แต่ต้องร่วมหน่วยงานรัฐขออนุญาต

Last updated: 22 ก.พ. 2564  | 

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 - 10:00 น.


รัฐบาล ย้ำ ประชาชนทุกครัวเรือนมีสิทธิ์ปลูก “กัญชา” ได้ แต่ต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐขออนุญาต อย. หรือ สสจ. พร้อมผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจหลักสร้างรายได้

นที่ 21 ก.พ. 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายหลังกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 กำหนดให้ส่วนของพืชกัญชาและกัญชง เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ปลูก ผลิต หรือสกัดในประเทศไทย ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษนั้น ปรากฏว่ามีประชาชนทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการแขนงต่างๆ ให้ความสนใจขอรับคำแนะนำมายังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จำนวนมาก

ทั้งนี้ รัฐบาลขอย้ำว่าประชาชนทุกครัวเรือนมีสิทธิ์ปลูกกัญชาได้ เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่นคือทั้งการปลูก สกัด และผลิต จะต้องขออนุญาตจาก อย. ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับที่ 7 ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่จะขออนุญาตต้องเป็นหน่วยงานรัฐ สถาบันอุดมศึกษา วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์จะต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐเพื่อขออนุญาต ส่วนการยื่นคำขออนุญาตปลูกสามารถยื่น ณ สถานที่ปลูกตั้งอยู่ โดยหากอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้ยื่นที่ อย. หากอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)

“ประชาชนมีสิทธิ์ปลูกกัญชาได้ผ่านการรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนและร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เช่นร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อขออนุญาตปลูกกัญชาโดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งเวลานี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ผลักดันให้เริ่มความร่วมมือรูปแบบนี้แล้วใน 46 จังหวัด ครอบคลุมประชาชนประมาณ 2,500 ครัวเรือน รพ.สต. 251 แห่ง ปลูกกัญชาไปแล้ว 15,000 ต้น โดยรัฐบาลคาดหวังว่าตั้งแต่นี้ไปทั้งกัญชาและกัญชงจะเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจหลัก ที่เป็นทางเลือกการสร้างรายได้และสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร และเป็นพื้นฐานสำคัญของการผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต”

ส่วนของกัญชาและกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้นั้น ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก ใบซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (CBD) เป็นส่วนประกอบ และมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ซึ่งแต่ละส่วนสามารถใช้ประโยชน์ทั้งทางการแพทย์ เช่น ใช้ในตำรับยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อุตสาหกรรมยา อาหาร เครื่องสำอาง ตลอดจนเป็นเส้นใยใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผู้สามารถใช้ประโยชน์ไม่ได้มีเพียงผู้ประกอบการเท่านั้นที่สามารถนำส่วนของกัญชาและกัญชงไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่ประชาชนทั่วไปก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่น การนำไปประกอบอาหารในครัวเรือน หรือประกอบอาหารและเครื่องดื่มเพื่อขายในร้านอาหาร เพียงแต่ต้องเป็นผลผลิตจากผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถระบุที่มาของส่วนกัญชาหรือกัญชงได้ โดยผู้สนใจสามารถตรวจสอบผู้ได้รับอนุญาตปลูกจากเว็บไซต์ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

นอกจากนี้ ในวันที่ 22 ก.พ. 2564 สถาบันกัญชาทางการแพทย์ จะจัดงาน “ก้าวต่อไป กัญชา กัญชง สู่พืชสมุนไพรเศรษฐกิจ” ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี เวลา 08.00 - 14.00 น. เพื่อสร้างความเข้าใจของสังคมต่อพืชกัญชาและกัญชง โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในธุรกิจนี้ให้เข้าใจถึงข้อกฎหมายและการสนับสนุนของภาครัฐ.



ขอบคุณภาพจาก : thairath.co.th







อ้างอิง

https://www.thairath.co.th/news/politic/2036772


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้