ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน แนะขยายผลสู่วิสาหกิจชุมชนนำร่องอำเภอละ 1 แห่ง เชื่อสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ

Last updated: 11 ส.ค. 2563  | 

วันที่ 11 สิงหาคม 2563 - 10:49 น.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์วิจัยกัญชาฯแม่สะเรียง แนะขยายผลสู่วิสาหกิจชุมชนนำร่องอำเภอละ 1 แห่ง เชื่อสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้ประชาชนได้อย่างมหาศาล


สำหรับ ศูนย์วิจัยและพัฒนากัญชาทางการแพทย์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุกเกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน นายณัฐวรรธน์ วรพนิตกุล ผู้อำนวยการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุกเกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม ได้ให้การต้อนรับ นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นางสาวศันสนีย์ ทาสม รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายสังคม คัดเชียงแสน นายอำเภอแม่สะเรียง พร้อมคณะ ได้เดินทางเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนากัญชาฯ ในครั้งนี้


ขอบคุณภาพจาก : siamrath.co.th


นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ พูดคุยกับผู้บริหารศูนย์วิจัยฯ ถึงแนวทางในการขยายการเพาะปลูกกัญชาสู่วิสาหกิจชุมชนในแต่ละอำเภอ นำร่องอำเภอละ 1 วิสาหกิจชุมชน โดยกลุ่มวิสาหกิจฯลงทุนร่วมกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทำการเพาะปลูก และ ทางศูนย์วิจัยฯเป็นผู้รวบรวมและตรวจสอบมาตรฐานเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงในการนำไปใช้ปรุงยาไทย 16 ตำรับ ซึ่งเชื่อว่าหากมีการขยายผลสู่ชุมชนในแต่ละวิสาหกิจจะสามารถสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้อย่างมหาศาล ทั้งนี้ศูนย์วิจัยดังกล่าวได้รับการอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีการควบคุมการผลิตได้อย่างมีมาตรฐานทุกประการ


ขอบคุณภาพจาก : siamrath.co.th


ในส่วนของ ศูนย์วิจัยและพัฒนากัญชาทางการแพทย์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุกเกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม ก่อตั้งขึ้น โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุก เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม อำเภอแม่สะเรียง มีเจตนาร่วมกันวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาและกัญชง เพื่อใช้ในทางการแพทย์ โดยร่วมกันวิจัยการสกัดสารสำคัญ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกัญชาและกัญชง เพื่อใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจของกระทรวงสาธารณสุข ในการยกระดับการใช้ประโยชน์กัญชาสู่ระดับสากล ดำเนินการปลูกกัญชารุ่นแรก เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2563 จำนวน 320 ต้น 4 สายพันธุ์ ประกอบไปด้วย กัญชาสายพันธุ์เพชรบุรี ตะนาวศรี หางกระรอกด้ายแดง และ หางกระรอกอีสาน และได้ ส่งมอบผลผลิตกัญชา ชุดแรก ภายใต้โครงการความร่วมมือวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาและกัญชงเพื่อใช้ทางการแพทย์ ประกอบด้วยดอกกัญชาสด จำนวน 14.45 กิโลกรัม กัญชาแห่ง จำนวน 94.32 กิโลกรัม ให้กับกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563




อ้างอิง:

https://siamrath.co.th/n/175969


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้