กัญชา : กฎหมายใช้กัญชา-กระท่อมทางการแพทย์มีผลบังคับใช้แล้ว

Last updated: 13 พ.ค. 2562  | 

กฎหมายใช้กัญชาและกระท่อมทางการแพทย์มีผลบังคับใช้แล้วในวันนี้ หลังจากเมื่อวานนี้ (18 ก.พ.) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562

สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ เนื่องจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

นอกจากนี้ ปรากฏผลการวิจัยว่าสารสกัดจากกัญชาและพืชกระท่อมมีประโยชน์ทางการแพทย์เป็นอย่างมาก ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้มีการอนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชาและพืชกระท่อมเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคและประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติด ให้โทษ พ.ศ. 2522 กัญชาและพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดเสพ หรือนำไปใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยหรือนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และยังกำหนดโทษทั้งผู้เสพและผู้ครอบครองด้วย

ดังนั้น เพื่อเป็นการรับรองและคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รับและใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในการรักษาและพัฒนาทางการแพทย์ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้ได้รับอนุญาต เพื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชาการให้ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านยาของประเทศ และป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดทางด้านยา สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้ในการรักษาโรคภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

การประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวทำให้ ประเทศไทยเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชนทางการแพทย์และการวิจัย

ปีที่แล้ว รัฐบาล-สนช. ต่างเร่งผลักดัน

ในช่วงปลายปี 2561 ฝั่งรัฐบาลเร่งปลดล็อกกฎหมายใช้กัญชาทางการแพทย์ ขณะที่วิป สนช. มีความคาดว่าว่าอย่างให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็น "ของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน"

โดยวันที่ 7 ต.ค. 2561 นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ และนายยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิปสนช. แถลงว่าได้บรรจุพระราชบัญญัติยาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้ในวาระการประชุมของสนช.แล้ว ซึ่งร่างพรบ.ดังกล่าวเป็นร่างที่เสนอโดยนายสมชาย แสวงการและคณะ เพื่อจะให้สามารถนำเอากัญชาไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้


"โดยทางสนช. อยากจะทำให้เสร็จ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่คนไทย เพราะว่าก่อนหน้าก็ได้ประสานกับญาติผู้ป่วยเป็นมะเร็ง ก็เห็นว่ากฎหมายนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์" นายสมชายกล่าวเมื่อปลายที่ผ่านมา

ส่วนวันที่ 6 พ.ย. 2561 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ยุติธรรม แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าในวันที่ 13 พ.ย. ครม. จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... นี้ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. โดยที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ส่ง ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เข้าสู่ สนช. เมื่อเดือน ก.ค. 2561 ไปแล้ว ซึ่งสนช.ได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างดังกล่าวไปรวม 180 วันด้วยกัน แต่สนช. ได้พิจารณายก ร่าง พรบ.ว่าด้วยการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในการแพทย์เป็นการเฉพาะ ซึ่งก็คือร่างของนายสมชายและคณะที่สั้นกว่ามากและมีเพียงไม่กี่มาตรา เนื่องจากเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษอาจจะใช้เวลาเนิ่นนานเกินไป

ที่มาของเรื่องนี้

ขณะที่ในเดือน พ.ค. 2561 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ซึ่งจะเปิดช่องให้ใช้กัญชาเพื่อการศึกษาวิจัยกับมนุษย์ได้เป็นครั้งแรก ก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติพิจารณาต่อไป

นักวิจัยและผู้ผลิตสารสกัดกัญชาเพื่อการแพทย์ เชื่อว่าข้อกำหนดใหม่นี้จะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยและการแพทย์ไทย ขณะที่องค์การเภสัชกรรมวางแผนจะปรับปรุงอาคารเพื่อเตรียมปลูกและวิจัยกัญชา
 
แคลิฟอร์เนียอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการแล้วไทยทำอะไรอยู่
ร่างกฎหมายนี้ ยังกำหนดให้ รมว. กระทรวงสาธารณสุข มีอำนาจพิจารณาและอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้ ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จะสามารถทดสอบยาเสพติดและกำหนดพื้นที่เพื่อทดลองปลูกพืชเสพติดได้

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายใหม่ยังเปลี่ยนแนวทางการรับมือกับผู้กระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด ซึ่งหากสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาจนหาย ก็สามารถพ้นความผิดและไม่ต้องถูกดำเนินคดี

นักวิจัยคิดอย่างไร

ทีมนักวิจัยที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชาตลอดช่วงปีที่ผ่านมา แต่พวกเขาสามารถทดลองได้เพียงในหลอดทดลองและกับสัตว์เท่านั้น เนื่องจากกฎหมายไม่อนุญาตให้ทดลองกับมนุษย์

ก่อนที่กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ ศ.ดร. ภญ. นริศา คำแก่น ผู้อำนวยการฝ่ายเภสัชกรรมสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวกับบีบีซีไทยผ่านทางอีเมล กล่าวว่า การที่ไม่อนุญาตให้นำมาใช้ในทางการแพทย์ ทำให้มีโทษทางอาญากับผู้เสพและผู้ครอบครอง จึงเป็นอุปสรรคอย่างมากสำหรับการศึกษาวิจัยกัญชา

ตามความเห็นของ รศ.ดร. ภญ. นริศา คำแก่น หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้ทดลองกับมนุษย์ได้นี้ จะช่วยให้การทำงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาสามารถดำเนินการได้ครบถ้วนตามระเบียบวิธีวิจัยของการค้นพบยาใหม่ (Novel Drug Discovery)

ทั้งนี้ กัญชามีสาร 2 ชนิดหลักที่ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ได้แก่ 1. สาร CBD (Cannabidiol) ซึ่งมีฤทธิ์ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนและการบวมอักเสบของแผล 2. สาร THC (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้ความรู้สึกผ่อนคลายและลดอาการปวด

หนึ่งในโครงการวิจัยที่ รศ.ดร. ภญ. นริศา ดูแลคือการพัฒนาสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปากจากสารสกัดกัญชา ซึ่งต้องใช้กัญชาของกลาง 40 กิโลกรัมที่คดีสิ้นสุดแล้ว จากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด

เครือข่ายผู้ใช้สารสกัดกัญชามองเรื่องนี้อย่างไร

ในการสัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ นายบัณฑูร นิยมาภา ผู้ริเริ่ม "เครือข่ายที่ช่วยรักษาผู้ป่วยด้วยสารสกัดกัญชา" ซึ่งร่วมกับแพทย์แจกจำหน่ายสารสกัดจากกัญชาให้ผู้ป่วยในไทยจำนวนหลายร้อยคนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กล่าวถึงมติ ครม.เห็นชอบประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ในปีที่แล้วว่า "ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย"

ปัจจุบันนายบัณฑูรย้ายไปอาศัยอยู่ที่ สปป. ลาว ซึ่งเขากล่าวว่ากำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลลาว ดำเนินการสกัดกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมายในรูปแบบโครงการนำร่อง ซึ่งมีโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนรองรับ

นายบัณฑูร นิยมาภา หรือ "ลุงตู้" กล่าวว่า "ผมอยากทำเป็นโมเดลให้รัฐบาลไทยเขาดูบ้างว่ามันไม่ต้องใช้เงินทุน ลาวไม่ต้องกู้เงินเพราะของก็มีอยู่แล้วในประเทศเขา ในไทยก็มีแต่คุณไม่นำมาใช้" เขากล่าวกับบีบีซีไทยเมื่อปีที่แล้ว

เขาเคยให้ความเห็นว่าการเปิดให้มีการรักษาด้วยกัญชาอย่างถูกกฎหมาย เป็นสิ่งที่เขาเรียกร้องมาโดยตลอด เพราะหากไม่ทำให้เกิดขึ้น ประเทศไทยกำลังสูญเสียผลประโยชน์มูลค่านับแสนล้านบาท

 

ที่มา : www.bbc.com/thai/thailand



 

ไม่พลาดทุกข่าวสารสำคัญ เพียงแค่กดเป็นเพื่อน LINE @CANNHEALTH

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้