ถก “กัญชา” ช่วยผู้ป่วย ใช้โมเดล! จุฬา-เดชา

Last updated: 13 พ.ค. 2562  | 

 

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา-โรงพยาบาล-กลุ่มผู้มีกำลัง การผลิตพร้อมดึงกลุ่มใต้ดินมีความรู้ด้านกัญชา ร่วมผลิตกัญชาทางการแพทย์ ชูโมเดล “จุฬาฯร่วมเดชา” หวังช่วยผู้ป่วยไม่ขาดยา

 

วงสัมมนาสาธารณะ นักบริหารกระบวนการยุติธรรม ค้านแนวคิดเปิดเสรีกัญชา เลขาธิการ อย.ย้ำ รัฐอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์เท่านั้น เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ ยันกระทรวงสาธารณสุขไม่มีนโยบายรับซื้อกัญชากิโลกรัมละ 16,000 บาท เกษตรกรจะขออนุญาตปลูกกัญชาได้ต้องทำในนามสหกรณ์การเกษตรและต้องมีสัญญาว่าจ้างผลิตจากหน่วยงานของรัฐถูกต้องตามกฎหมาย

ความคืบหน้าเรื่อง “กัญชา” ที่กำลังเป็นประเด็นฮอตในการนำมาใช้ทางการแพทย์ ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เมื่อวันที่ 26 เม.ย. มีการจัดประชุมจับคู่ระหว่างมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และกลุ่มที่คาดว่ามีกำลังการผลิตกัญชา เพื่อให้เกิดความร่วมมือภายในพื้นที่ โดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล สภาเกษตรกรแห่งชาติ กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นต้น เข้าร่วม

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการ อย. กล่าวหลังการประชุมว่า การจับคู่จะเป็นการจับกันในพื้นที่ ระหว่างสถาบันการศึกษา กลุ่มที่คาดว่ามีกำลังการผลิต และภาคบริการ คือโรงพยาบาล เรามีรูปแบบหรือโมเดลของคณะเภสัชศาสตร์จุฬาฯ ที่ทำร่วมกับนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี เป็นรูปแบบกลาง ที่จะส่งให้แต่ละแห่งดูเป็นตัวอย่างในการจับคู่ หากจับคู่ออกมารูปแบบคล้ายๆกันในลักษณะของการวิจัย จะได้ข้อมูลผู้ป่วยที่ใช้ยาอยู่ทั้งประเทศในภาพรวม จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำโครงการต่อไป รวมถึงเป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีการใช้ยาจากกัญชาอยู่แล้ว ได้ใช้ยาต่อไปในรูปแบบของการมาร่วมวิจัยโดยไม่ต้องขาดยา

นพ.ธเรศกล่าวอีกว่า จากการพูดคุย ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ บอกว่าทั้งกลุ่มสภาเกษตรกร รวมถึงวิสาหกิจชุมชนย่อย ที่อาจมีกำลังผลิตถึง 10 กว่าแห่ง ยินดีที่จะร่วมกันจับคู่เช่นนี้ หากเกิดการจับคู่กับหน่วยงานภาครัฐแล้วก็มาขออนุญาตได้ แต่หากเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ขออนุญาตไปแล้ว ก็สามารถร่วมมือกันได้ทันที โดย อย.จะเป็นพี่เลี้ยง สำหรับการมาแจ้งครอบครองกัญชาโดยไม่ต้องรับโทษ ขณะนี้มีประมาณ 6 พันกว่าคน จะเป็นตัวเลขพื้นฐานที่ใช้ในการเตรียมระบบและเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ เพื่อเตรียมยาไว้สำหรับคนกลุ่มนี้

ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการอย.กล่าวว่า ขณะนี้กฎหมายลูกที่สำคัญเหลือร่างกฎกระทรวงสาธารณสุข การขออนุญาตและการอนุญาต ผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชา ที่อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ระหว่างนี้จะมีการส่งร่างไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย เพื่อให้รวดเร็วหลังจากผ่าน ครม.และประกาศคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษอีก 2 ฉบับ ต้องรอกฎกระทรวงออกก่อนถึงออกตามได้ ส่วนประกาศกระ– ทรวงสาธารณสุขออกไปครบทั้งหมดแล้ว

ภญ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงความคืบหน้าการร่วมมือขับเคลื่อนวิจัยน้ำมันกัญชาสูตร อ.เดชาว่า เหลือเตรียมเอกสารให้เรียบร้อย ส่วนระยะเวลาในการพิจารณาขึ้นกับคณะกรรมการจริยธรรมฯ แต่หลังจากผ่านคณะกรรมการจริยธรรมฯแล้ว จึงจะยื่นขอเอกสารขออนุญาตวิจัยจากคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษเป็นลำดับต่อไป

ขณะที่นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติกล่าวว่า สภาฯมีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 2,300 คน มีเครือข่ายต่างๆที่เป็นผู้ผลิตกัญชาอีกกว่า 10 เครือข่าย จึงอยากให้ทุกเครือข่ายดำเนินการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกดำเนินการใดๆ เนื่องจากเมื่อขึ้นทะเบียนแล้วมีช่องทางให้ดำเนินการได้อย่างถูกกฎหมายด้วย การร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่กฎหมายอนุญาตเพื่อดำเนินการในลักษณะการจับคู่เป็นโครงการวิจัย จะส่งผลให้ผู้ผลิตที่เคยดำเนินการแบบลับๆ สามารถผลิตได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยก็จะมียาจากกัญชาใช้ต่อไป ที่สำคัญจะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานมากขึ้น มีความปลอดภัยในการนำไปใช้ ถือว่าเกิดประโยชน์ในภาพรวมต่อทุกฝ่าย

วันเดียวกัน ในเวทีสัมมนาสาธารณะ เรื่อง “มองกัญชาให้รอบด้าน” จัดโดยคณะผู้เข้ารับการ อบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 23 สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการ ศาลยุติธรรม ที่อาคารหอการค้าไทย-จีน ถ.สาทรใต้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา กรรมการแพทยสภา จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กัญชาแม้จะมีคุณสมบัติเป็นยา แต่ก็มีข้อจำกัดเป็นเพียงยาบรรเทาอาการเจ็บป่วย เช่น ภาวะกล้ามเนื้อเกร็งหรือกระตุกในกลุ่มผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม อาการเจ็บปวดของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ควบคุมโรคลมชัก และช่วยรักษาการปวดหัวและโรคนอนไม่หลับ ต้องใช้ภายใต้การดูแลจากคนที่มีความรู้เรื่องกัญชาอย่างถูกต้องและการควบคุมจากแพทย์ เพราะหากใช้ในปริมาณที่เกินกำหนดอาจจะทำให้เกิดกับผู้ป่วยมากกว่าการรักษาเยียวยา

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวอีกว่า สถานการณ์ในขณะนี้ มีผู้ใช้กัญชาเพื่อบำบัดรักษาประมาณ 1 แสนคน แต่มีผู้ที่มีความรู้ในการใช้กัญชาอย่างถูกต้องเพียง 200 คน ยังไม่เพียงพอจำนวนผู้ที่ต้องการใช้กัญชาเพื่อการรักษา จึงควรเป็นบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะต้องเร่งผลิตแพทย์และเภสัชกรที่มีองค์ความรู้ในการใช้กัญชาเป็นยารักษา รวมทั้งเร่งวิจัยและผลิตยาจากกัญชาให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน โดยบรรจุใช้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อที่ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้กัญชาเพื่อการรักษาสามารถเข้ายาได้

ขณะที่ รศ.วิเชียร กีรตินิจกาล ผอ.ศูนย์วิทยาการเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรแห่งชาติ กล่าวว่า การสร้างความหวังให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับประเทศ ตามที่มีการนำเสนออย่างกว้างขวางในขณะนี้ เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายควรศึกษาให้รอบด้านเสียก่อน เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย การที่จะปลูกกัญชาแล้วส่งออกไปต่างประเทศนั้น ต้องแจ้งต่อหน่วยงานสารเสพติดระหว่างประเทศ ซึ่งจำกัดปริมาณ หลายประเทศห้ามนำเข้าและส่งออกกัญชาการปลูกทุกครั้งต้องขอยูเอ็น นอกจากนี้ หากไปศึกษาข้อมูลเมืองที่อนุญาตให้ใช้กัญชาอย่างเสรี อย่างรัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐโคโลราโด ในสหรัฐอเมริกา พบว่า วันนี้มีเด็กอายุ 13-20 ปี ใช้กัญชามีถึง 85% นี่คือเรื่องน่ากลัว รวมไปถึงอุบัติเหตุทางรถยนต์มีมากขึ้น สถิติการเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินเกิดมากขึ้น หากจะมีการผลักดันนโยบายกัญชาเสรี ถามว่าไทยจะสามารถปกป้องไม่ให้เกิดเหตุอย่างในสหรัฐอเมริกาได้หรือไม่

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ เลขาธิการคณะ กรรมการอาหารและยา กล่าวว่า แม้กัญชาจะมีสรรพคุณเป็นยาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยในบางโรค แต่ถ้าใช้กัญชาอย่างไม่ถูกต้องและไม่มีการควบคุมก็จะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้และสังคม ไทยจึงต้องมีการกำหนดใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ ด้วยการผลิตเป็นยาเท่านั้น ไม่อนุญาตให้มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น ผสมในอาหาร หรือผลิตเพื่อการค้า เกษตรกรที่ต้องการปลูกกัญชาก็ต้องทำในนามสหกรณ์การเกษตร หรือวิสาหกิจชุมชน ต้องมีสัญญาว่าจ้างเพาะปลูกจากหน่วยของรัฐที่เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยหรือผลิตเป็นยาอย่างเป็นทางการ จึงจะมาขออนุญาตปลูกกัญชาตามกฎหมายได้ ขณะนี้มีกลุ่มบุคคลพยายามโฆษณาชักชวนให้ชาวบ้านหรือเกษตรกรมารวมกลุ่มปลูกกัญชา โดยอ้างว่ากระทรวงสาธารณสุขจะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 16,000 บาท โดยไม่จำกัดโควตา ไม่เป็นความจริงประชาชนอย่าหลงเชื่อ

 

 

ที่มา : www.thairath.co.th/news/local/bangkok

 

 

ไม่พลาดทุกข่าวสารสำคัญ เพียงแค่กดเป็นเพื่อน LINE @CANNHEALTH

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้