ปลูกกัญชาแล้ว เดือนกรกฎาคมสกัดนํ้ามัน

Last updated: 13 พ.ค. 2562  | 

 

รมว.สาธารณสุขนำทีมผู้บริหารกระทรวงปลูกกัญชาถูกกฎหมายแปลงแรกของไทยและอาเซียน ดีเดย์ลอตแรก 140 ต้น จาก 3 สายพันธุ์ คาดเดือนกรกฎาคมมีน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น 2,500 ขวดใช้ ทุ่มงบ 10 ล้านปั้นมาตรฐานระดับนานาชาติ เป็นต้นแบบปลูกกัญชา ชี้อนาคตส่งโกอินเตอร์สู้ตลาดโลก

การปลูกกัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อนำมาใช้ในทางการแพทย์ มีขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่โรงงานผลิตยารังสิต คลอง 10 จ.ปทุมธานี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ประชุมมอบนโยบายผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม พร้อมเปิดโครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ระยะที่ 1 และมีการปลูกต้นอ่อนกัญชาเมื่อเวลา 15.19 น. ลอตแรกจำนวน 140 ต้น โดยเป็นการปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายครั้งแรกของไทยและอาเซียน ที่มี นพ.ปิยะสกลเป็นผู้นำทีมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ปลูกต้นแรกในแบบระบบรากลอย (Aeroponics) มีการควบคุมแสง อุณหภูมิและพ่นสารอาหารใต้ราก เพื่อให้ได้สารสกัดที่มีความคงตัว ไม่ปนเปื้อนสารโลหะหนักและยาฆ่าแมลงเพื่อนำมาผลิตยาจากกัญชา ชนิดน้ำมันหยดใต้ลิ้น

 

นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า ต้องทำให้กัญชาของไทย นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างแท้จริง ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2562 กัญชายังเป็นพืชเสพติดและไทยเข้าร่วมอนุสัญญายาเสพติดขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หากไม่เอาไปใช้ทาง การแพทย์จะผิดอนุสัญญา โดยประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) ระบุว่า การที่ไทยออก พ.ร.บ.นี้ออกมา ถูกต้องครบถ้วนตามที่ยูเอ็นและนานาชาติให้ความเห็น ดังนั้น เรา ต้องเร่งที่จะทำให้กัญชาเกิดประโยชน์ทางการแพทย์ให้เร็วที่สุด หลายชาตินำไปแล้วหลาย 10 ปี จึงตั้งเป้าอยากให้พัฒนาสารสกัดกัญชาเพื่อสู้กับต่างชาติให้ได้ภายใน 2-3 ปี เพราะหลังจาก 5 ปีแล้วต่างชาติจะเข้ามา

 




“เราจะเร่งพัฒนาก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ องค์การเภสัชกรรมปลูกกัญชา เรื่องนี้ละเอียดอ่อนมาก ไม่ใช่เมล็ดพันธุ์ที่ไหนก็ได้มาปลูก ต้องใช้คำว่าได้มาตรฐานระดับนานาชาตินำไปทำยาอย่างแท้จริง หรือเมดิคัลเกรด (Medical Grade)” นพ.ปิยะสกลกล่าว

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาองค์การเภสัชกรรม ได้รับกัญชาของกลางมาพัฒนาเป็นยา แต่พบว่ามีการปนเปื้อนสารโลหะหนักและยาฆ่าแมลงจำนวนมาก จึงต้องพัฒนาให้ได้คุณภาพที่สุดโดยทุ่มงบ 10 ล้านบาท ปลูกกัญชาในระบบปิดในพื้นที่ 100 ตารางเมตร มุ่งเน้นให้เป็นพืชยามาตรฐานสากล มีองค์ ประกอบ 3 ส่วน คือ 1.ประสิทธิผล 2. ความปลอดภัย 3.คุณภาพ แต่ละลอต สาระสำคัญต้องคงที่ โดยเฉพาะสารทีเอชซีและซีบีดี ทั้งหมดจึงเรียกว่าเป็นเมดิคัลเกรด หรือเกรดใช้ทำยาได้ เพราะอยากให้คนไทยใช้ของมีคุณภาพและได้ผลจริง

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ที่ต้องใช้งบลงทุน 10 ล้านบาท เพราะเราเซตมาตรฐาน การได้กัญชามาทำยาต้องเป็นระดับความคงตัวสารตั้งต้น ดอกและสายพันธุ์ ทำให้เป็น ต้นแบบ ระบบปลูกมีระบบรักษาความปลอดภัย ให้เป็น ต้นแบบในการศึกษาวิจัยพันธุ์ใหม่ๆในอนาคต หลังจากปลูกจะใช้เวลา 4 เดือน คาดว่าจะสกัดสารออกมาเป็นน้ำมันชนิดหยดใต้ลิ้นได้ในช่วง ก.ค. ประมาณ 2,500 ขวด ขวดละ 5 มิลลิลิตร หรือประมาณ 10,000 ขวดต่อปี โดยจะนำมาใช้รักษาในกลุ่มที่มีข้อบ่งชี้ชัดเจน 4 โรค คือ ผลข้างเคียงจากการรับคีโมรักษามะเร็ง ลมชัก ปลอกประสาทอักเสบ และปวดเรื้อรัง นอกจากนี้ ยังมีในกลุ่มที่น่าจะมีประโยชน์ เช่น พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ โดยการใช้น้ำมันกัญชาจะเป็นโครงการความร่วมมือกับโครงการวิจัยต่างๆตามที่กฎหมายกำหนด

ขณะที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษได้ตั้งอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดเตรียมสถานที่ เก็บรักษา ควบคุมการปลูกและข้อกำหนดต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานของเมดิคัลเกรด ในส่วนขององค์การเภสัชกรรมที่ปลูก ได้ผ่านมาตรฐานทั้งหมด เช่น มาตรฐานโรงเรือน มีความมิดชิด โครงสร้างแข็งแรง มีระบบความปลอดภัย การติดกล้องวงจรปิดรอบทิศทาง การเคลื่อนย้ายต้นกัญชา แผนรักษาความปลอดภัยและต้องพร้อมให้ตรวจกล้องวงจรปิด 24 ชั่วโมง ทำให้เกิดการลงทุนค่อนข้างสูง

นพ.ธเรศกล่าวอีกว่า สำหรับวันแรกของการเปิดให้คนใช้กัญชา แจ้งการครอบครองกัญชาได้ที่ศูนย์เบ็ดเสร็จของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยไม่ต้องรับโทษ พบว่ามาแจ้ง 4 รายเป็นผู้ป่วยทั้งหมด เดินทางมาสอบถาม 30 รายและโทรศัพท์มาปรึกษา 848 ราย โดยจะเปิดให้แจ้งจนถึงวันที่ 19 พ.ค.2562 ครบระยะเวลา 90 วันนับแต่ที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้

นายวิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกและปรับปรุงพันธุ์พืชกล่าวว่า ที่ไม่ใช้กัญชาสายพันธุ์ไทย เพราะสายพันธุ์ไทยมีสารทีเอชซีสูง ก่อให้เกิด อาการเมามาก ส่วนซีบีดีต่ำ การทำเป็นยาต้องมีสาร 2 ตัวนี้ขึ้นกับแต่ละโรคว่าต้องใช้สารตัวไหนมากน้อย อย่างไร จึงนำพันธุ์ต่างประเทศที่ปรับปรุงแล้วเข้ามา คือสายพันธุ์อินดิกา นำเข้ามา 3 ส่วน คือ กลุ่มที่สาร ซีบีดีสูง กลุ่มสารทีเอชซีสูง กลุ่มที่สารทีเอชซี และซีบีดีเป็น 1 ต่อ 1 ทั้งนี้ การปลูกในระดับเมดิคัลเกรด ทุกต้นที่ปลูกต้องเหมือนกัน ให้สารสำคัญเท่ากัน การปลูกระดับเมดิคัลเกรด องค์การเภสัชกรรมทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมาร่วมกันทำ เนื่องจากการส่งออกจะส่งออกได้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น ถ้าไม่ได้เมดิคัลเกรดจะส่งออกไม่ได้ สำหรับการปลูกระบบรากลอยจะช่วยให้ได้สารสำคัญตามที่ต้องการ

วันเดียวกัน สำนักงาน ป.ป.ส. ออกแถลงการณ์ เรื่องกัญชา ความสรุปว่า ป.ป.ส. ขอย้ำว่า “กัญชา” ยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย ครอบครองหรือเสพโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดและมีโทษตามกฎหมายทั้งจำคุกหรือปรับ เพียงแต่กฎหมายผ่อนปรนให้สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยเท่านั้น การอนุญาตให้ผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออกและครอบครอง ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้รัฐจะดำเนินการเอง หากเป็นเอกชนต้องเป็นการดำเนินการร่วมกับรัฐ จะมีการกำหนดมาตรการกำกับดูแลในทุกขั้นตอน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนที่จำเป็นต้องเข้าถึงสารสกัดจากกัญชา ในการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยจากโรคที่สามารถบำบัดรักษาได้และเพื่อผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใด หากยังไม่ได้รับอนุญาต และโดยเฉพาะประชาชนทั่วไปยังไม่สามารถปลูกกัญชา หรือใช้สารสกัดจากกัญชาในการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยเรื่องกัญชา สอบถามได้ที่สายด่วน ป.ป.ส. 1386 กด 3 หรือ อย.1556 กด 3 ตั้งแต่ 08.30-16.30 น. ในวันและเวลาราชการ

ด้านนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการจัดเก็บภาษีกัญชา หากรัฐบาลตัดสินใจให้กัญชาจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ กรมก็พร้อมที่จะจัดเก็บภาษีกัญชาได้ทันที โดยขั้นตอนแรกกรมสรรพสามิตจะเสนอให้กระทรวงการคลังกำหนดกัญชาเป็นสินค้าในพิกัดที่กรมจะจัดเก็บภาษีเหมือนกับสินค้า เหล้า สุรา ยาสูบ และขอให้คณะรัฐมนตรี ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดกัญชาเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษี หากรัฐบาลอนุญาตให้ซื้อขายกัญชาเชิงพาณิชย์ได้แล้ว ถึงจะกำหนดอัตราภาษี ปัจจุบันรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกาเก็บภาษีจากกัญชา 3 ชนิดคือ ชนิดของเหลว ชนิดผง และชนิดใบ โดยเสียภาษีในอัตรา 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อน้ำหนัก 1 ออนซ์ หรือ 28.35 กรัม ปัจจุบันมีหลายประเทศเช่น ยุโรปอนุญาตจำหน่ายกัญชา และมีอีกหลายรัฐในสหรัฐฯจำหน่ายกัญชาได้ด้วยเช่นกัน

 

ที่มา : www.thairath.co.th/news/local/bangkok

 
ไม่พลาดทุกข่าวสารสำคัญ เพียงแค่กดเป็นเพื่อน LINE @CANNHEALTH

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้