ปลดล็อก "กัญชา" เป็นพืชเศรษฐกิจ ทุกฝ่ายพร้อมผลักดันรัฐสร้างโมเดลธุรกิจชาติ

Last updated: 13 พ.ค. 2562  | 

ทันทีที่ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” หรือ สนช. มีมติเมื่อเดือน พ.ย.61 จะส่งร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษตามที่สมาชิก สนช. 44 คน เสนอไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อ “ปลดล็อก” กัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และสามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้

ความปั่นป่วนในสังคมไทยก็เกิดขึ้น เมื่อบรรดาพลพรรคภาคประชาสังคม นักวิชาการ และบุคลากรทางการแพทย์ลุกขึ้นมาคัดค้าน และกดดันให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ไม่รับจดสิทธิบัตรยา หรือสิ่งประดิษฐ์ที่มีสารสกัดจากกัญชา หรือองค์ประกอบที่มีสารสกัดจากกัญชาเป็นส่วนผสม

 

ทั้งยังกดดันให้ “ยกเลิก” ทุกคำขอที่เกี่ยวข้องกับกัญชาที่ได้ยื่นมาให้กรมแล้วในทันทีด้วย!

เนื่องจากเกรงว่า หากร่างกฎหมายฉบับนี้ ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. และเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. จนถึงขั้นออกเป็นกฎหมายบังคับใช้แล้วล่ะก็ แม้จะสามารถนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในประเทศไทยได้

แต่ในทางกลับกัน อาจทำให้คนไทย นักวิจัย และนักประดิษฐ์ไม่ได้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรยา หรือสิ่งประดิษฐ์ใดๆ จากกัญชาทั้งๆที่กัญชาเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองของไทย และกัญชาของไทยติดอันดับพันธุ์ดีที่สุดในโลก

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่ากว่าที่คนไทยจะเริ่มต้นทำงานวิจัย หรือคิดสูตรยาต่างๆจากกัญชา ก็อาจไม่ทันกินคนต่างชาติแล้ว เหตุเพราะในไทย กัญชายังเป็นยาเสพติดอยู่ ทำให้ไม่สามารถนำมาผลิตเป็นยาขาย หรือใช้ประโยชน์ใดๆ ได้ หรือแม้จะผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า ทั้งยังทดลองกับ “มนุษย์” ไม่ได้ด้วย หากยังไม่มีกฎหมายปลดล็อก เช่นในหลายประเทศที่กัญชาถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ หรือแม้กระทั่งนำมาเสพกันได้อย่างเสรีนานแล้ว

ที่สำคัญ กลุ่มที่คัดค้านการจดสิทธิบัตร เห็นว่า การที่กัญชายังเป็นสารเสพติดให้โทษ และผิดกฎหมายในไทยอยู่ การยื่นคำขอจดสิทธิบัตรยา หรือสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับกัญชา จึงไม่เข้าข่ายได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรของไทย มาตรา 9 (5) ที่ระบุว่า การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี อนามัย หรือสวัสดิภาพของประชาชน จะไม่ได้รับการคุ้มครอง


ด้านกลุ่มผู้คัดค้าน ยังเกรงว่า หากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดให้มีการรับจดสิทธิบัตร จะทำให้ “เจ้าของ” สิทธิบัตรที่ล้วนแต่เป็นคนต่างชาติ สามารถผูกขาดยา หรือสิ่งประดิษฐ์จากกัญชา ส่งผลให้คนไทย ไม่สามารถผลิตยาจากกัญชาที่ต่างชาติเป็นเจ้าของสิทธิบัตรได้

ทั้งๆที่ในความเป็นจริง หากกัญชาถูกปลดล็อก และหากกรมทรัพย์สินทางปัญญารับจดสิทธิบัตรจริง คนไทยยังสามารถคิดสูตรยา หรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆจากกัญชาได้ แต่ต้องไม่ “ซ้ำ” กับยา หรือสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้ว

สำหรับคำขอจดสิทธิบัตรของต่างชาติ ที่ได้ยื่นกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้วครอบคลุมการรักษาโรคหลายชนิด ทั้งมะเร็ง โรคจิตประสาท โรคลมชัก รวมถึงการใช้สำหรับระงับปวด เป็นต้น

เมื่อสถานการณ์คัดค้านจดสิทธิบัตรกัญชา “รุนแรง” ขึ้น ถึงขั้นมวลชนกลุ่มต่างๆจะฟ้องร้องกระทรวงพาณิชย์ในทุกเวที พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงได้ออกคำสั่ง คสช. เมื่อวันที่ 28 ม.ค.62 ให้ยกเลิกคำขอจดสิทธิบัตรที่มีสารสกัดจากกัญชา หรือมีสารสกัดจากกัญชาเป็นองค์ประกอบทั้งหมด

มีผลให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องทยอยยกเลิกคำขอตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.-1 ก.พ.62 รวม 7 คำขอ จากก่อนหน้านี้ที่ได้ใช้อำนาจอธิบดีกรม ทรัพย์สินทางปัญญา สั่งปฏิเสธไปแล้ว 3 คำขอ และอีก 3 คำขอ ผู้ยื่นขอจดได้ละทิ้งเอง ส่งผลให้ทั้ง 13 คำขอ พ้นไปจากระบบทันที

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 ก.พ.62 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ได้มีผลบังคับใช้แล้ว ส่งผลให้กัญชาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ โดยสามารถผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ รักษาผู้ป่วย หรือศึกษาวิจัยและพัฒนาได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากทางการก่อน

ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ 3 ฉบับ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 ก.พ.62 เพื่อนิรโทษกรรมผู้มีกัญชาไว้ในครอบครองก่อนที่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ โดยไม่มีความผิด แต่ให้แจ้งการครอบครองภายใน 90 วัน

รวมถึงยังนิรโทษกรรมผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อรักษาโรคเฉพาะตัว ก่อนกฎหมายนี้ใช้บังคับไม่ให้ต้องรับโทษ ส่วนหน่วยงาน หรือบุคคลผู้ครอบครองกัญชาก่อนกฎหมายมีผลใช้บังคับ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การใช้รักษาโรคเฉพาะตัว หรือการศึกษาวิจัย ไม่มีความผิดเช่นกัน

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยกำลังระดมความคิดเห็น ข้อมูล และผลการศึกษาวิจัยทั้งหมดเท่าที่มีในประเทศไทย และต่างประเทศ รวมถึงข้อกฎหมายจากนักกฎหมายและเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อหาทางนำสมุนไพรกัญชามาปลูกในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง และสามารถนำไปสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญอีกประเภทของประเทศไทยได้

 

ขณะนี้ มหาวิทยาลัย ได้รับความช่วยเหลือ จากบริษัทเบทาโกร ในการนำนักวิทยาศาสตร์ และนักโภชนาการมาช่วยในการค้นคว้าวิจัยสมุนไพรตัวนี้แล้ว ขณะเดียวกันก็เชิญเจ้าของฟาร์มดอกไม้ขนาดใหญ่จากภาคเหนือซึ่งบังเอิญส่งลูกไปเรียนประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อศึกษาเรื่องของกัญชาในสายพันธุ์ต่างๆเป็นการสร้างโอกาสในการนำกัญชามาใช้ในการปรุงยาทดแทนการนำเข้ายาหลายชนิดของประเทศได้

 


“ทุกคนมองเห็นโอกาสว่ากัญชามีศักยภาพในการเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศได้ แต่ต้องเข้าใจ และทำทุกสิ่งให้ถูกต้องตามกฎหมาย และทำอย่างไรจึงจะทำให้การปลูกกัญชาสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับวงการทางการแพทย์ได้มากที่สุด เพราะสารที่ประกอบกันอยู่ในกัญชานี้ มีอยู่มากที่สามารถนำมาใช้ทดแทนยาชนิดต่างๆ ขณะที่หลายสายพันธุ์ก็สามารถใช้เป็นส่วนผสมของยาแก้ปวด ยาต้านการอาเจียน หรือการแพ้”

ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวด้วยว่า สารในกัญชามี 2 ตัวที่สำคัญคือ ทำให้เกิดความรู้สึกสบาย จิตใจมีความสุข ในกรณีนี้ เราสามารถนำสารดังกล่าวมาใช้ทำประโยชน์ได้ ส่วนสารอีกตัวที่ทำให้เกิดภาพหลอน เห็นหนูเป็นช้าง หรือคิดว่าตัวเองบินได้ อันนี้เป็นอันตราย นำมาใช้ไม่ได้แน่ๆ ส่วนที่ใครต่อใครคิดว่ากัญชาเป็นยาทำให้โรคมะเร็งหายขาด ก็เป็นการเข้าใจผิด เพียงทำให้อาการปวดบรรเทาลงเท่านั้น

 

ด้าน นายเนวิน ชิดชอบ อดีตนักการเมืองชื่อดังแห่งบุรีรัมย์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการผลักดันกัญชาให้เป็นพืชสมุนไพรเศรษฐกิจของประเทศเพื่อปลดหนี้สินเกษตรกรไทย โดยการจัดงานใหญ่ “พันธุ์บุรีรัมย์” ระหว่างวันที่ 19-21 เม.ย.ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ว่า ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่เขาพยายามพัฒนาจังหวัดบุรีรัมย์มากระทั่งสามารถเป็นเมืองกีฬาและบริการ และพ้นจากเมือง 1 ใน 10 ที่ยากจนที่สุดของประเทศได้แล้ว แต่กระนั้นก็ตาม การที่เมืองไม่มีป่า ไม่มีน้ำทะเล หรือภูเขาให้ทำการท่องเที่ยวได้ ก็ต้องให้ชาวบุรีรัมย์ช่วยกัน ครีเอต หรือคิดงานที่สร้างสรรค์เพื่อหารายได้ให้กับเมืองขึ้นมา และใช้ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ และกำไรให้แก่กันและกัน

“เมื่อกัญชาได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถจะใช้เป็นยารักษาโรค เป็นอาหาร และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพได้ แทนที่รัฐบาลจะเปิดให้มีการใช้กัญชาเพื่อการศึกษาและวิจัยทางการแพทย์ ก็น่าจะปลดล็อกให้กัญชาสามารถปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้ เช่นเดียวกับในหลายประเทศ เช่น “แคลิฟอร์เนีย โมเดล” ซึ่งเพียงปีเดียวคือ 2018 หลังอนุญาตให้คนไปขอปลูกกัญชาได้ ครอบครัวละ 6 ต้น โดยเสียเงินค่าขึ้นทะเบียน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปรากฏว่ารัฐมีรายได้สูงถึง 3,000 ล้านเหรียญ” นายเนวิน กล่าว

และว่า ประเทศไทยใช้กัญชาเป็นยาสมุนไพรมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช และเพิ่งจะมีการนำกัญชาเข้ามาเป็นสิ่งผิดกฎหมายก็เมื่อปี 2505 นี้เอง ทั้งๆที่คุณประโยชน์ของกัญชาไทยมีสูงมาก และจัดเป็นพันธุ์ที่เคยเป็น The best of the best ของโลกเลยก็ว่าได้ “กัญชา” แก้โรคมะเร็งได้ โรคเครียด ออทิสติก พาร์กินสัน และโรคนอนไม่หลับได้ ที่สำคัญ

“ผมเพิ่งไปเจอคนที่ใช้น้ำมันกัญชามา 20 ปีในการรักษาโรค HIV ก็อยากจะบอกครับว่า เมื่อมีข้อพิสูจน์เรื่องตัวเลขเศรษฐกิจ และการคลังเช่นในหลายประเทศ อย่างที่แคลิฟอร์เนีย ซึ่งปลูกกัญชาได้น้ำมันปีละ 1 กก.ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 70,000 บาทแล้ว ประเทศไทยเราจะไม่พิจารณาเรื่องนี้เพื่ออะไร”

 

 

ขณะที่ น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดเผยว่า ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตปลูกกัญชากับกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เมื่อปี 2559 แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตซึ่งคาดว่า หากรัฐบาลชุดใหม่มีนโยบาย และส่งเสริมให้ปลูกกัญชาได้ ยสท.ก็พร้อมจะปลูกได้ทันที

เพราะเตรียมความพร้อมมาหลายปีแล้ว โดยได้ศึกษารูปแบบการปลูกกัญชามาจากการปลูก “กัญชง” ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ ยสท.ศึกษาไว้นานหลายปีแล้ว โดย ยสท.ได้ส่งผลผลิตให้กับบริษัทเอกชนนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยานยนต์ สิ่งทอ และพลังงาน เป็นต้น

สำหรับ “กัญชา” เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากพืชชนิดเดียวกันกับกัญชง เพียงแต่กัญชงจะไม่มีสารเสพติดเหมือนกับกัญชา การปลูกกัญชาจึงมีลักษณะการปลูก และการดูแล ไม่แตกต่างจากกัญชง จึงทำให้ ยสท.มีความเชี่ยวชาญในการเพาะปลูกพืชชนิดนี้มาก

เพราะมีประสบการณ์จากการปลูกกัญชงมาหลายปี ทั้งยังมีนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการเพาะพันธุ์ และการปลูกกัญชาที่จะให้ความรู้กับเกษตรกรที่อยู่ในความดูแลอีกด้วย ล่าสุดได้มีการเตรียมพื้นที่ในการปลูกกัญชาแล้ว 100,000 ไร่ ในหลายพื้นที่ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย เป็นต้น

ที่ผ่านมา ยสท.ได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อศึกษาการปลูกกัญชง การดูแลรักษา และการแปรรูป อาทิ จีน อิสราเอล เยอรมนี สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ส่วนกัญชา ได้เตรียมตัวที่จะเดินทางไปแคนาดา เพื่อศึกษาพันธุ์ของกัญชาว่า พันธุ์ใดจะให้ผลผลิตได้ดีที่สุด และการแปรรูปกัญชาแบบใดจะเหมาะสมกับกัญชาที่ปลูกในประเทศไทย

“เราพร้อมผลักดันพืชทั้ง 2 ชนิดนี้ให้เป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อนำสารสกัดที่ได้ส่งออกเป็นอาหารเสริม และยาเพื่อการแพทย์ ขณะนี้กำลังรอทางกระทรวงสาธารณสุขว่า จะอนุญาตให้ ยสท.ปลูกกัญชาแบบถูกกฎหมายได้หรือไม่ ในเวลาเดียวกัน ยสท.ก็พร้อมที่จะสนับสนุนทุกหน่วยงานที่ศึกษาวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ ซึ่งถ้ามีการอนุญาตให้ปลูกเพื่อผลิตทางการแพทย์จริง คงต้องปลูกในระบบปิด เพราะถ้าเปิดให้ปลูกเสรี อาจจะเกิดความวุ่นวายได้”

สำหรับการปลูกระบบปิดมีหลายแบบ อาทิ เป็นระบบปิดแบบมีรั้ว มีกล้องวงจรปิด หรือทำระบบปิดแบบโรงปลูก เป็นต้น ซึ่งอาจจะต้องมีการลงทุนหลายล้านบาท

“เรายังมีแผนจะส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากการที่ ยสท.ซื้อใบยาสูบลดลง เพราะยอดขายตกต่ำ ให้หันมาปลูกกัญชาทดแทนด้วย ส่วนเรื่องการแปรรูปกัญชา เบื้องต้นได้หารือกับกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างศึกษาว่าจะนำไปสกัดเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใดได้บ้าง”.

 

ที่มา : www.thairath.co.th/news/business

 

 

ไม่พลาดทุกข่าวสารสำคัญ เพียงแค่กดเป็นเพื่อน LINE @CANNHEALTH

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้