ยิ่งรู้ ยิ่งป้องกันได้กับโรคความดันโลหิตสูง

Last updated: 22 พ.ย. 2562  | 

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 - 10:34 น.

 

โรคความดันโลหิตสูง หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะความดันโลหิตสูงนั้น เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มผู้ใหญ่ เฉลี่ยแล้วตกประมาณ 25-30% ของประชากรโลกที่อยู่ในกลุ่มผู้ใหญ่ทั้งหมด และมักพบบ่อยในกลุ่มของผู้ชายมากกว่ากลุ่มผู้หญิง ถือได้ว่าโรคความดันโลหิตเป็นโรคที่คุณควรใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจากผลที่จะตามมานั้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายเป็นอย่างมาก วันนี้เราได้นำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตมาฝากกัน

 

โรคความดันโลหิตสูงคืออะไร?

โรคความดันโลหิตสูง หรือในภาษาอังกฤษมีชื่อว่า Hypertension เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยความดันอยู่ในหลอดเลือดแดงสูงกว่าปกติอยู่ตลอดเวลา โดยความดันโลหิตจะประกอบไปด้วยสองค่า นั่นก็คือ ความดันช่วงหัวใจบีบและความดันช่วงหัวใจคลาย ซึ่งถือเป็นความดันสูงสุดและต่ำสุดที่เกิดขึ้นในระบบหลอดเลือดแดงตามลำดับ โดยความดันในช่วงหัวใจบีบนั้น จะเกิดเมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายเกิดการบีบตัวที่มากที่สุด ความดันในช่วงหัวใจคลายจะเกิดเมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายคลายตัวมากที่สุด ก่อนการบีบตัวในครั้งถัดไป

 

ลักษณะอาการของโรคความดันโลหิตสูง

สำหรับโรคความดันโลหิตสูงนั้นถือได้ว่าเป็นโรคที่มักไม่มีอาการแสดงออกมา แต่มักจะมีอาการจากผลข้างเคียงจากการเป็นโรคหัวใจ และจากการเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง หรือสำหรับบางคนก็เกิดจากอาการของโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง อย่างเช่น อาการของผู้ป่วยเบาหวาน หรือจากการเป็นโรคอ้วน และสำหรับบางคนก็เกิดจากอาการของโรคที่เป็นสาเหตุโดยตรง เช่น โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง ซึ่งโรคชนิดนี้จะแสดงอาการของการปวดศีรษะและสายตามองเห็นภาพไม่ชัดเจน แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงบางรายอาจมีอาการที่แสดงออกมาโดยตรง เช่น มีอาการมึนงง วิงเวียน และสับสน รวมทั้งมีอาการปวดศีรษะ สำหรับบางรายอาจมีอาการขั้นโคมาจนเสียชีวิตลง

 

สาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง

สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงนั้นมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน คือ

1. เกิดจากพันธุกรรม ซึ่งโอกาสที่คนในครอบครัวจะเป็นโรคชนิดนี้เป็นไปได้สูงมาก 

2. เกิดจากโรคอ้วนหรือร่างกายมีน้ำหนักที่เกินตัว เนื่องจากโรคชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดต่างๆ เกิดภาวะตีบจากภาวะไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด เมื่อเกิดโรคชนิดนี้ขึ้นในร่างกาย ก็จะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงตามมาได้ง่าย

3. เกิดจากการเป็นโรคไตเรื้อรัง เนื่องจากโรคชนิดนี้จะส่งผลถึงการสร้างเอนไซม์และฮอร์โมนที่มีส่วนในการควบคุมความดันโลหิต

4. เกิดจากการมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่มีสารพิษที่อยู่ในควันปริมาณมาก ซึ่งเป็นสารที่ส่งผลต่อการทำให้เกิดการอักเสบ เกิดการตีบตันของหลอดเลือดต่างๆ รวมทั้งหลอดเลือดไต อีกทั้งยังส่งผลต่อหลอดเลือดหัวใจ

5. เกิดจากการดื่มสุรา เพราะการดื่มสุราจะส่งผลทำให้หัวใจของคนเราเกิดภาวะที่เต้นเร็วกว่าปกติ และนั่นก็จะส่งผลต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงสูงถึงประมาณ 50% ของผู้ที่ติดสุรา

6. เกิดจากการทานอาหารที่มีรสเค็มเป็นประจำ เพราะความเค็มที่ร่างกายได้รับในปริมาณที่มากจนเกินไป มีส่วนทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้

7. เกิดจากการไม่หมั่นออกกำลังกาย เพราะการไม่ออกกำลังกายนั้นจะส่งผลต่อการเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ซึ่งหากเผชิญกับโรคทั้งสองชนิดนี้ ก็จะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้

8. เกิดจากผลข้างเคียงของการทานยา เช่น การทานยาที่อยู่ในกลุ่มสเตียรอยด์

 

วิธีรักษาโรคความดันโลหิตสูง

สำหรับวิธีการรักษาโรคความดันโลหิตสูงนั้น ก็คือ การทานยาลดความดันโลหิตสูงตามที่แพทย์ได้สั่งจ่ายยาเอาไว้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาและควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งโรคที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ด้วย สำหรับยาลดความดันโลหิตสูงนั้นมีอยู่ด้วยกันหลากหลายชนิด เช่น ยาสำหรับรับประทานและยาสำหรับฉีด ทั้งนี้ยาแต่ละชนิดจะถูกนำมาใช้ตามระดับความรุนแรงของอาการที่แสดงออกมา สำหรับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงอีกแนวทางหนึ่งก็คือ การรักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคดังกล่าว กล่าวคือ หากทำการรักษาโรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง รวมทั้งโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองให้หายได้ โรคความดันโลหิตสูงก็จะหายตามไปด้วย ทั้งนี้การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งการไม่วิตกกังวลกับทุกปัญหา รู้จักปล่อยวางหรือมีสติมากยิ่งขึ้น ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้

 

วิธีการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง

ในส่วนของการป้องกันเพื่อไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงสามารถทำได้โดยการหมั่นทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นอาหารที่ให้คุณค่าสารอาหารที่ครบทั้ง 5 หมู่ทุกๆ วัน โดยทานอาหารแต่ละหมู่ในปริมาณที่เหมาะสม นั่นก็คือ ทานอาหารโดยที่ไม่ทำให้สุขภาพร่างกายเกิดถาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักที่เกินเกณฑ์ และควรจัดการอาหารประเภทที่ให้ไขมัน แป้ง น้ำตาล และอาหารรสชาติเค็มทิ้งไป โดยเพิ่มปริมาณของผักและผลไม้ชนิดที่ไม่หวานมากแทน สำหรับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การให้ร่างกายมีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ รวมทั้งการหมั่นทำให้จิตใจสงบและมีสติยิ่งขึ้นก็มีส่วนในการป้องกันไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงได้แล้ว ทั้งนี้ก็อย่าลืมตรวจสุขภาพประจำปีด้วยเช่นกัน เพราะการตรวจหาโรคความดันโลหิตสูงนั้น สามารถทำการตรวจได้ตั้งแต่อายุ 18-20 ปี เมื่อมีโอกาสเสี่ยงหรือกำลังเผชิญกับโรคดังกล่าว ก็สามารถรับมือได้ทัน เนื่องจากแพทย์จะให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยเพื่อปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง

 

วิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคความดันโลหิตสูง

สำหรับการดูแลตนเองในช่วงที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ก็คงไม่พ้นจากการแนะนำของแพทย์หรือพยาบาลอย่างเคร่งครัดและถูกวิธี ทั้งนี้ก็ควรทานยาให้ครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง ควรงดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ไขมัน อาหารรสเค็ม หมั่นจำกัดและควบคุมปริมาณอาหาร เพื่อไม่ให้เกิดภาวะโรคอ้วนหรือร่างกายที่มีน้ำหนักที่เกินเกณฑ์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือการสูดดมกลิ่นควันบุหรี่ งดดื่มสุรา รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่ทำให้สุขภาพจิตต้องเผชิญกับเรื่องแย่ๆ ให้ต้องเครียด กดดัน หรือเป็นกังวลจนทำให้อาการทรุดลง ที่สำคัญควรเข้าพบแพทย์ตามนัดเสมอ แต่หากมีอาการที่ผิดปกติเช่น ปวดศีรษะรุนแรง มีอาการเหนื่อยผิดปกติ เจ็บแน่นในบริเวณหน้าอก มีอาการใจสั่น เหงื่อออกเป็นจำนวนมาก แขนและขาเกิดอาการอ่อนแรง ปากเบี้ยว และคลื่นไส้อาเจียน ก็ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง

 

 


อ้างอิง : https://www.honestdocs.co/high-blood-pressure-in-adult-males

 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้