“กัญชา vs เหล้า vs บุหรี่” มุมสะท้อนของโทษและกฎหมาย

Last updated: 30 ส.ค. 2562  | 

วันที่ 29 สิงหาคม 2562 -16:00 น.

"Exclusive"
หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาไทยเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 โดย Cannhealth
เขียน/แปล: สิริญา มิตรศรัทธา/Siriya Mitsattha
เรียบเรียง : อภินันท์ อุ่นทินกร: /Apinan Untinkorn


คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า “กัญชา” เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ทั้งบทลงโทษที่หนัก กฎหมายที่เข้มข้นและผลเสียต่อร่างกายที่ดูเหมือนจะน่ากลัวสำหรับผู้บริโภค แต่ทว่าความเข้าใจนี้เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อมีงานวิจัยมากมายได้ออกมารับรองแนวโน้มคุณสมบัติด้านการรักษาของกัญชา ทำให้กัญชากลายเป็นหัวข้อที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตามหลายๆ ประเทศในโลกยังคงต่อต้าน “กัญชา” ในขณะที่อีกกลุ่มประเทศส่วนใหญ่กลับเปลี่ยนความเข้าใจและให้การยอมรับ ดังนั้นเรามาเรียนรู้ด้านมืดของกัญชากัน ว่ามืดจริงหรือไม่?  ข้อดีและข้อเสียของกัญชาจะสามารถหักล้างกันได้หรือไม่?



เดิมทีในประเทศไทยเรามีพระราชบัญญัติยาเสพติดที่ระบุว่า กัญชาเป็นสิ่งเสพติดให้โทษ แต่ทว่าอย่างที่รู้ไม่นานมานี้กฎหมายได้อนุญาตให้นำกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์เพื่อรักษาได้ ทำให้ศูนย์วิจัยของรัฐ  มหาวิทยาลัยและผู้ที่ได้รับอนุญาตการยกเว้นสามารถปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์สำหรับงานทดลอง และทำงานวิจัยต่างๆ ได้




อาการทั้งหมดนี้เกิดขึ้น “จริง” เพราะการใช้กัญชา แต่เป็นอาการที่เป็นผลลัพธ์จากสาร THC ซึ่งเป็นสารประกอบหลักตัวหนึ่งของกัญชา โดยการใช้กัญชาที่มีสาร THC ในระยะยาวก็อาจเกิดผลเสียต่างๆ มากมายเช่นกัน ดังนั้นรัฐบาลต้องดูแลประชาชนด้วยความรู้ที่มีอยู่และจากกฎหมายที่แต่ละประเทศมี



ผลเสียข้อหนึ่งที่ทุกประเทศเห็นตรงกัน คือผลเสียของกัญชาที่มีต่อเด็ก งานวิจัยโดยศูนย์แห่งสุขภาพสมองที่มหาวิยาลัยเท็กซัส เมืองดัลลัส พบว่าผู้ทดลองที่เริ่มใช้กัญชาเมื่ออายุ 16 หรือน้อยกว่านั้นได้มีความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสมอง พัฒนาการของสมองกลีบหน้าผากส่วนหน้าถูกยับยั้ง ซึ่งเป็นส่วนที่รับผิดชอบเรื่องดุลพินิจ เหตุผลและกระบวนการคิดที่ซับซ้อน อีกทั้งยังแสดงถึงสัญญาณของสมองที่เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว



งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการใช้กัญชาอย่างหนักหน่วงและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของอาการและความผิดปกติของจิต ยิ่งคนที่ใช้กัญชาทุกวันและเป็นกัญชาที่มีฤทธิ์สูงมากเท่าไหร่ อัตราความเสี่ยงของอาการจิตผิดปกติก็สูงมากขึ้นเท่านั้น

นักวิจัยพบว่าเกือบ 30% ของผู้ป่วยผิดปกติทางจิตรายงานถึงการใช้กัญชาเป็นประจำทุกวันเทียบกับ 7% ของกลุ่มควบคุมที่ไม่มีอาการผิดปกติทางจิต โดย 37% ของผู้ป่วยผิดปกติทางจิตรายงานถึงการใช้กัญชาที่มีฤทธิ์สูง

การใช้กัญชาที่มีสารประกอบ THC สูงมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตมากกว่าการใช้กัญชาแบบที่มีฤทธิ์อ่อนกว่า โดยฤทธิ์สูง  คือมีสาร THC มากกว่า 10% และฤทธิ์อ่อนคือมีสาร  THC น้อยกว่า 10%  ส่วนฤทธิ์สูงในงานวิจัยนี้มีสารประกอบ THC  อยู่ที่ 37% และ 19%



หากมีการใช้กัญชาทุกๆ วันเป็นระยะยาว อาการอาเจียนอย่างรุนแรงจากกัญชา (cannabinoid hyperemesissyndrome) อาจเกิดขึ้นได้ แต่กรณีนี้ไม่ได้พบบ่อยนักและมักจะเกิดขึ้นจากการใช้กัญชาที่มีสาร THC ปริมาณสูงเป็นเวลานาน


สำหรับทางเดินอาหารก็มีหน่วยรับแคนนาบินอยด์ที่สามารถจับกับสาร THC ได้ ดังนั้นกัญชาก็สามารถมีผลต่อทางเดินอาหารได้เช่นกัน กัญชามีผลต่อระยะเวลาของการทำให้ท้องว่าง  มีผลต่อกล้ามเนื้อหูรูดตอนล่างของหลอดอาหารซึ่งเป็น กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่เหมือนหนังยางที่รัดและทำหน้าที่เปิดหรือปิดกระเพาะอาหารเพื่อให้อาหารออกมาทางหลอดอาหาร

ขณะที่หน่วยรับในสมองทำให้กัญชามีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการอาเจียน คลื่นไส้ ซึ่งนั่นเป็นประโยชน์ของกัญชาที่รู้จักกัน แต่มันดูเหมือนจะมีฤทธิ์ตรงข้ามหากกัญชามีปฏิกิริยากับทางเดินอาหาร โดยครั้งแรกที่ใช้นั้นสัญญาณจากสมองจะสำคัญและมีผลมากกว่าทางเดินอาหาร โดยจะช่วยให้ผู้ใช้ได้ประโยชน์จากกัญชาและบรรเทาอาการคลื่นไส้  แต่เมื่อเกิดการใช้กัญชาซ้ำๆ  อาจทำให้หน่วยรับในสมองที่เคยให้ฤทธิ์บรรเทาอาการคลื่นไส้กลับหยุดตอบสนอง และทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนแทน ซึ่งอาการนี้ไม่ได้หนักหนาจนถึงชีวิตแต่อาการอาเจียนซ้ำๆ ก็ไม่เป็นผลดีต่อร่างกายนักและอาจต้องทำให้แอดมิทเข้าโรงพยาบาลเพื่อให้ได้รับน้ำเกลือ ยาแก้ปวดหรือยาแก้คลื่นไส้



สาร THC รับกับหน่วยรับแคนนาบินอยด์ที่พบบนผิวของเซลล์ประสาทที่อยู่ในบริเวณของสมองที่รับผิดชอบเรื่องการเคลื่อนไหว ความสุข ความจำ การคิดพิจารณา สมาธิ การรับรู้เวลาและการรับรู้ความรู้สึก 

ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ผู้ใช้กัญชาเกิดความบกพร่องในการขับขี่รถยนต์ เนื่องจากเกิดการตัดสินใจและความสามารถในการตอบสนองที่ช้าลง

ฤทธิ์ของกัญชาที่ถูกบริโภคเข้าไปอาจอยู่ในร่างกายนานถึง 24 ชั่วโมงก่อนที่จะจางหายไป โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการจางหายในฤทธิ์ของกัญชาคือ

- จำนวนของกัญชาที่ใช้และความบ่อยที่ใช้กัญชา

-วิธีการใช้กัญชา สูบหรือรับประทานเข้าไป



ด้วยเหตุนี้กฎหมายยังคงต้องมีข้อบังคับ พร้อมกับมีการควบคุมการใช้กัญชาอย่างเคร่งครัด ไม่สามารถปล่อยเสรีในการบริโภคเหมือนกับเหล้าหรือบุหรี่ได้ แม้กัญชาจะมีโทษมากมายแต่สิ่งเสพติดที่ถูกกฎหมายอย่างเหล้าและ บุหรี่ก็มีโทษไม่น้อยไปกว่ากัญชา หากเราเปรียบเทียบโทษของกัญชากับโทษของเหล้าและบุหรี่



ความเข้าใจและการเปรียบเทียบผลเสีย/โทษของสิ่งเสพติดนั้นถูกเผยแพร่ในงานวิจัยจากประเทศอังกฤษที่ตีพิมพ์ในหัวข้อ “Drug Harms in the UK: A Multicriteria Decision Analysis” เดือนพฤศจิกายน 2010 ที่จัดอันดับ 20 สารเสพติดจากปัจจัยโทษ การเปรียบเทียบนี้มีการวัดทั้งผลเสียต่อผู้ใช้ (harm to user) และผลเสียต่อผู้อื่น (harm to others)

ผลเสียต่อผู้ใช้เช่นการพึ่งพาสิ่งเสพติด การเสียชีวิตและความบกพร่องของการทำงานทางจิต  ผลเสียต่อผู้อื่นคืออาชญากรรม ความเสียหายทางสภาวะแวดล้อมและความเสียหายที่เกิดจากความตั้งใจโดยการเปรียบเทียบใช้อันดับคะแนนเต็มร้อย ซึ่ง 100% คือผลเสียมากที่สุดและ 0 คือไม่มีผลเสีย


อันดับสิ่งเสพติดที่เป็นโทษต่อผู้ใช้มากที่สุดเป็นอันดับที่1 คือแอลกอฮอล์ ตามมาด้วยสารเสพติดอื่นๆ เช่นเฮโรอีน แคร็กโคเคน เมทแอมเฟตามีนหรือยาไอซ์ และโคเคน บุหรี่หรือยาสูบ (tobacco) อยู่อันดับที่ 6 และกัญชาอยู่อันดับที่ 8


ในขณะที่เมื่อเทียบอันดับสิ่งเสพติดที่เป็นโทษต่อผู้อื่น แอลกอฮอล์ก็ยังคงอยู่ในอันดับที่ 1 บุหรี่เป็นโทษต่อผู้อื่นสูงกว่ากัญชาเพียงเล็กน้อยหากดูในภาพรวม กัญชากลับเป็นสิ่งเสพติดที่เป็นโทษต่อผู้ใช้และต่อผู้อื่นน้อยกว่าบุหรี่และแอลกอฮอล์  ซึ่งข้อสรุปนี้ทำให้เห็นถึงความขัดแย้งทางด้านกฎหมายควบคุมการบริโภคสิ่งเหล่านี้


อันดับของผลเสียทั่วไปถูกจัดแบ่งเป็น 16 ประเภท เช่นการเสียชีวิตเพราะสิ่งเสพติดโดยเฉพาะ การเสียชีวิตที่เกี่ยวกับสิ่งเสพติด ความเสียหายที่เกิดจากสิ่งเสพติดโดยเฉพาะ ความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติด การพึ่งพายา ความบกพร่องทางการทำงานของจิตที่เกิดจากสิ่งเสพติดและที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติด การสูญเสียที่จับต้องได้ การสูญเสียความสัมพันธ์ การบาดเจ็บ อาชญากรรม การทำลายสิ่งแวดล้อม ความทุกข์ยากของครอบครัว หากเราเปรียบเทียบแอลกอฮอล์ บุหรี่และกัญชา ด้วย 3 ผลเสียหลัก เราจะพบว่าแอลกอฮอล์มีผลเสียเรื่องต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ ความบาดเจ็บและความทุกข์ยากของครอบครัว บุหรี่มีผลเสียเรื่องต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์  การพึ่งพาบุหรี่และการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ กัญชามีผลเสียเรื่องต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ อาชญากรรมและความบกพร่องทางการทำงานของจิตที่เกี่ยวข้องกับกัญชา



กรณีของการใช้กัญชาปริมาณเกินขนาดหรือการ overdose ยังไม่เคยส่งผลให้ผู้ใดเสียชีวิตมาก่อน หากเทียบกับการสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้าที่เกินขนาด สิ่งเสพติดเหล่านั้นกลับให้โทษต่อร่างกายที่ร้ายแรงกว่ารวมไปถึงการเสียชีวิต

ในปัจจุบันโดยอ้างอิงจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา ยังไม่มีรายงานในกรณีวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่เสียชีวิตเพราะการใช้กัญชา  อย่างไรก็ตามบางคนที่ใช้กัญชาที่มีสาร THC ในปริมาณสูง จะประสบกับอาการข้างเคียง เช่น

หัวใจเต้นแรง ปวดศีรษะ มีอาการวิตกกังวล  ความหวาดกลัว หรือในกรณีที่ไม่พบบ่อยนักอย่างอาการเห็นภาพหลอน

ซึ่งอาการเหล่านี้ทำให้พวกเขาต้องเข้าห้องฉุกเฉิน  ซึ่งกัญชาไม่เหมือนสิ่งเสพติดชนิดอื่นที่เข้าไปแทรกแซงบริเวณของสมองที่รับผิดชอบการทำงานที่สำคัญอย่างการหายใจเพราะกัญชามีผลกระทบเพียงแค่ความทรงจำและการทรงตัวเคลื่อนไหว



จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้มี 2 ด้านเหมือนกันหลายๆ อย่าง แล้วแต่ว่าคุณจะให้ความสำคัญไปกับข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน หากเรามีความรู้ทั้ง 2 ด้าน นั่นเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้เราสามารถเลือกใช้ได้อย่างปลอดภัย


กฎหมายไม่ได้ผิดที่ต้องควบคุมและดูแลการใช้ เพราะนั่นเป็นการปกป้องประชาชน แม้กฎหมายจะยังไม่เอื้อต่อกัญชามากนักแต่ทว่าความเข้าใจถึงประโยชน์และโทษของกัญชาที่มีมากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เหล้า) และบุหรี่ก็จะมีมากขึ้น


บทความนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการไม่เห็นด้วยกับกฎหมายแต่อย่างใด เพียงแต่อยากนำเสนอและสะท้อนมุมมองอีกด้านหนึ่งของเหล้า บุหรี่และกัญชา เพื่อหวังว่าเราจะเข้าใจทั้งด้านดีและด้านเสียของกัญชาและหวังว่าสักวันประเทศไทยจะมีโอกาสกอบโกยและใช้ประโยชน์สูงสุดของกัญชาในเรื่องการรักษาโรค โดยยังคำนึงถึงโทษและควบคุมผลกระทบให้มีต่อผู้คนน้อยที่สุด


ที่มา:

1. Ranking 20 Drugs and Alcohol by Overall Harm – Pro Con Organization
https://medicalmarijuana.procon.org/view.additional-resource.php?resourceID=004477

2. Starting age of marijuana use may have long-term effects on brain development – Center for BrainHealth
https://medicalxpress.com/news/2016-02-age-marijuana-long-term-effects-brain.html

3. Preliminary findings demonstrating latent effects of early adolescent marijuana use onset on cortical architecture – Francesca M.F., Tim M., Samuel J.D., Virendra M.
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S1878929315000912

4. High-Potency Marijuana Use Linked with Psychosis Risk – Racael Rettner
https://www.livescience.com/65031-high-potency-marijuana-psychosis-risk.html

5. High potency pot 'strongly linked' to psychosis: study – Medical Xpress
https://medicalxpress.com/news/2019-03-high-potency-pot-strongly-linked.html

6. Cannabinoid Hyperemesis Syndrome – Cedars- Sinai
https://www.cedars-sinai.org/health-library/diseases-and-conditions/c/cannabinoid-hyperemesis-syndrome.html

7. Canabis Impairment – Government of Canada
https://www.canada.ca/en/services/health/campaigns/cannabis/impairment.html

8. Marijuana – National Institute on Drug Abuse
https://www.drugabuse.gov/publications/drugfacts/marijuana

9. Marijuana Overdose: Can You Overdose on Marijuana? – The Recovery Village
https://www.therecoveryvillage.com/marijuana-addiction/marijuana-overdose/#gref



                                                                                                                                

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้