เรื่องน่ารู้ และสรรพคุณทางการแพทย์ที่ควรรู้เกี่ยวกับ กัญชา

Last updated: 15 พ.ค. 2562  | 

 

กัญชา เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีทั้งประโยชน์และโทษอยู่ในตัว พืชชนิดนี้จึงถูกจัดให้เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ตามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แต่เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลไทยได้มีการแก้กฎหมายใหม่เพื่อเปิดโอกาสให้นำกัญชาไปศึกษาและวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และนำไปใช้รักษาโรคภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ได้

 

ทำความรู้จักกับ กัญชา


กัญชา เป็นพืชในตระกูล Cannabis ที่สามารถจำแนกออกมาได้อีก 3 ชนิด ได้แก่

1. Cannabis Indica : มีลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย สูงไม่เกิน 2 เมตร ใบมีสีเขียวเข้ม มีลักษณะสั้นและกว้าง เติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น หรือการปลูกในร่ม นิยมปลูกเพื่อนำดอกมาใช้สกัดเป็นน้ำมันทางด้านการแพทย์ และนำมาใช้เ1. พื่อการผ่อนคลาย
2. Cannabis Sativa : ลำต้นใหญ่ หนา และแข็งแรง อาจสูงได้มากถึง 6 เมตร ใบมีลักษณะเรียวยาว สีเขียวอ่อน เติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีอากาศร้อน นิยมปลูกเพื่อเอาใยมาใช้ทางด้านอุตสาหกรรม และนำเมล็ดมาสกัดน้ำมัน
3. Cannabis Ruderalis : ต้นเล็กคล้ายวัชพืช ใบมีลักษณะกว้างและเล็กผสมกัน เติบโตได้ดีทั้งในอากาศร้อนและเย็น พบได้มากในทวีปยุโรป
สรรพคุณทางการแพทย์
จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่า ในกัญชามีสารออกฤทธิ์สำคัญ 2 ชนิด ที่สามารถนำมาใช้บำบัดหรือรักษาโรค ได้แก่

สาร CBD (Cannabidiol) : มีคุณสมบัติลดอาการเจ็บปวด ลดการอักเสบของแผล ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ลดอาการชักเกร็ง และลดอาการคลื่นไส้
สาร THC (Tetrahydrocannabinol) : มีคุณสมบัติต่อจิตประสาท ทำให้เกิดความผ่อนคลาย และเคลิบเคลิ้ม หากได้รับในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยลดอาการตึงเครียดได้
นอกจากนี้ยังมีรายงานการใช้กัญชาในรูปแบบสเปรย์เพื่อรักษาโรคหอบหืดอีกด้วย ปัจจุบันนี้มีหลายประเทศทั่วโลกที่อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย ได้แก่



  • ออสเตรเลีย กำหนดให้การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ถูกกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2016

  • สหราชอาณาจักร มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้แล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2018

  • ในเกาหลีใต้ มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้แต่มีการควบคุมอย่างเคร่งครัด

  • เลโซโท ประเทศแรกในทวีปแอฟริกันที่อนุญาตให้มีการเพาะปลูกกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย

  • สหรัฐอเมริกา อนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้แล้วทั้งหมด 33 จากทั้งหมด 50 รัฐ

  • รัฐบาลอุรุกวัยได้อนุญาตให้มีการขายกัญชาเพื่อสันทนาการตามร้านขายยาได้อย่างถูกกฎหมายเป็นชาติแรกในโลก หลังผ่านกฎหมายเสพกัญชาอย่างถูกฎหมายมาตั้งเเต่ปี 2017

 

ส่วนในประเทศไทย ได้มีการเผยแพร่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2562 ที่ระบุให้กัญชาสามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคได้ แต่ต้องพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับการนำมาใช้รักษาโรค แต่ทั้งนี้ กัญชายังคงเป็นยาเสพติดผิดให้โทษตามกฎหมายเช่นเดิม

แม้กัญชาจะใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ แต่ก็ต้องมีการควบคุมปริมาณให้เหมาะสม เพราะถ้าหากใช้ในปริมาณมากเกิน จะทำให้ความคิดเลื่อนลอยสับสน ควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ความจำเสื่อม กล้ามเนื้อลีบ หัวใจเต้นเร็ว หูแว่ว เป็นต้น

เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับกัญชา


1. กัญชาสามารถลบความจำระยะสั้นออกได้
ผู้เสพกัญชาหลายคนมักจะขี้หลงขี้ลืม เนื่องจากกัญชามีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำกัญชามาใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เกิดจากมีความทรงจำที่สะเทือนใจ เช่น การรักษาทหารที่ผ่านสงคราม หรือการรักษาผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

2. การสูบกัญชา ไม่ทำให้เสียชีวิตในทันที
การสูบกัญชาเกินขนาด จะส่งผลกระทบต่อระบบสมองที่ประกอบไปด้วยไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) และฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) จึงทำให้รู้สึกกระหาย หิวน้ำ ปากแห้ง ความจำสั้น ขาดสมาธิ และอาจพบเรื่องเลือกเลือน สติไม่สมประกอบได้บ้างในระยะยาว แต่ไม่เคยมีผู้เสียชีวิตจากการสูบกัญชาเกินขนาด 


3. กัญชากระตุ้นความอยากอาหารได้
ส่วนประกอบของกัญชาที่นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารมากที่สุด คือใบกัญชา และเมล็ดกัญชา ซึ่งทั้งสองส่วนนี้มีฤทธิ์กระตุ้นความอยากอาหาร โดยเมนูยอดนิยมคือ ต้มไก่ใส่กัญชาที่ยังหารับประทานได้ตามต่างจังหวัด

อันตรายจากการใช้กัญชา


ทำให้ร่างกายอ่อนแอ สารที่อยู่ในกัญชาสามารถทำลายการทำงานของอวัยวะหลายส่วน ซึ่งจะทำให้ร่างกายอ่อนแอ อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลงและทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย
ทำลายสมรรถภาพทางกาย ผู้ที่เสพกัญชาในปริมาณมากๆ เป็นเวลานานจะทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม จนไม่สามารถทำงานได้ โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้แรงกาย ความคิด และการตัดสินใจ
ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งมีผลร้ายเหมือนกับโรคเอดส์ โดยระบบภูมคุ้มกันในร่างกายจะเสื่อมลงหรือบกพร่อง และติดเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น
มีอาการทางจิต ผู้ที่เสพกัญชาในปริมาณมาก มักจะเป็นโรคจิตในภายหลัง โดยมักจะเกิดปัญหาต่างๆ เช่น วิตกกังวล หวาดระแวง ทำให้มีอาการเลื่อนลอย สับสน ฟั่นเฟือง และเกิดอาการประสาทหลอน จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หากเสพเป็นระยะเวลานานจะทำให้สภาพจิตเสื่อม
รวมข้อสงสัยเกี่ยวกับกัญชา


สารกัญชาอยู่ในร่างกายได้กี่วัน?


คำตอบ : ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความถี่ในการใช้กัญชา สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ 10-13 วันหลังเสพ หรืออาจนาน 45-90 วัน หากใช้กัญชาในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน

- ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)

สารกัญชาอยู่ในกระแสเลือดได้นานแค่ไหน?


คำตอบ : ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้กัญชา แต่ส่วนมากจะอยู่ได้ตั้งแต่ 1-6 เดือน เพราะกัญชาจะมีสาร THC ซึ่งจะถูกสะสมไว้ในไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกายและจะปล่อยมายังกระแสเลือดทีละน้อย 

- ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)

คำตอบ : การตรวจสารกัญชา มักจะตรวจหาสารที่เรียกว่า เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol) หรือ เรียกว่า THC ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธ์ต่อจิตประสาท (psychoactive substance)

เมื่อสารนี้เข้าสู่ร่างกายจะถูกย่อยสลายในตับ โดยตับจะย่อยสารออกฤทธิ์ที่ชื่อ Hydroxy-THC และเปลี่ยนไปเป็นสารที่ไม่มีผลต่อระบบประสาทชื่อ THC Carboxylic Acid (THC-COOH) ซึ่งจะละลายในไขมันและจะถูกขับออกจากร่างกายอย่างช้าๆ โดยปกติ THC-COOH จะอยู่ในร่ายกายเราประมาณ 13 วัน สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีปริมาณสารสะสมมาก่อน แต่ก็เคยมีการตรวจพบ THC-COOH ในปัสวะของผู้ที่ใช้กัญชาอย่างหนักคนหนึ่ง 84 วันหลังจากที่เขาหยุดสูบ

- ตอบโดย Witchuda Onmee (พญ.)

ใช้กัญชาบ่อยเกือบทุกวัน 2-3 ชม.จะผ่าตัดและจะมีการนำเลือดไปตรวจก่อนผ่า จะตรวจพบสารเสพติดกัญชาหรือไม่ และจะมีผลอย่างไรบ้าง?


คำตอบ : การตรวจเลือดก่อนผ่าตัด เป็นการตรวจเพื่อประเมินความพร้อมของร่างกายร่วมกับหาความผิดปกติอื่นๆเพื่อประเมินความเสี่ยงในการผ่าตัด สิ่งที่แพทย์สั่งตรวจส่วนมากได้แก่ ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เกลือแร่ในเลือด น้ำตาล การทำงานของไต และอื่นๆ แล้วแต่โรคที่เป็น

ส่วนเรื่องสารกัญชาที่ตกค้างในเลือดจะอยู่นานหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สูบมานานแต่ไหน ความถี่ ปริมาณ ความเข้มข้นของพันธ์กัญชาที่ใช้ แต่โดยส่วนมากสารที่ตกค้างจะอยู่ได้นานเป็นเดือนๆ ถ้าแพทย์สั่งตรวจ THC ก็จะพบสารนี้ แต่ถ้าโรคที่ผ่าตัดไม่เกี่ยวกับการตรวจหาสารเสพติดแพทย์จะไม่สั่งตรวจ 

- ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)

กัญชาสามารถออกฤทธิ์ได้นานแค่ไหน?


คำตอบ : ปกติแล้วหลังสูบกัญชา กัญชาจะออกฤทธิ์สูงสุดภายในครึ่งชั่วโมง และมักเป็นอยู่นานประมาณ 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5-8 ชั่วโมง 

- ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)

เมากัญชาทำไมต้องกินของหวาน?


คำตอบ : กัญชามีฤทธิ์ผสมผสาน เสพแล้วอาจทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายแปรปรวน เช่น

ตาแดง คออักเสบ คอแห้ง เหงื่อออกมาก นอกจากนี้กัญชายังเพิ่มการขับน้ำในร่างกายผู้เสพ ทำให้เกิดอาการหิวน้ำและต้องการของหวาน รับประทานอาหารจุ
มีอาการสั่นของกล้ามเนื้อ มือสั่น เท้าสั่น ทรงตัวไม่อยู่มีอาการผิดปกติทางสายตา ขาดการควบคุมตนเอง ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งถ้าผู้เสพกัญชาขับรถยนต์ หรือเดินบนท้องถนน
เวียนศีรษะอย่างแรง หูอื้อ มีเสียงในหู ม่านตาขยายกว้างขึ้น มักอยู่ไม่สุข พูดพล่าม หัวเราะลั่น เอะอะ หรือแสดงตลกต่างๆ ความรู้สึกต่อความเจ็บปวดและประสาทสัมผัสไวมากขึ้น
ความดันโลหิตสูง อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น มือเท้าเย็น เพราะกัญชามีส่วนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเปลี่ยน
ความคิดสับสน การตัดสินใจและสมาธิเสีย อารมณ์ซึมเศร้าคุมสติไม่อยู่ เกิดอาการทางจิตได้


- ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)

ติดกัญชา อยากเลิก มีวิธีการเบื้องต้นอย่างไร?


คำตอบ : ในส่วนของการเลิกยาเสพติดเบื้องต้นนั้น ความตั้งใจของผู้ที่จะเลิกมีส่วนสำคัญมาก การเลิกกัญชาสามารถเลิกได้โดยวิธีการหยุดใช้ทันที เมื่อหยุดใช้แล้วอาจจะมีอาการที่เรียกว่าอาการถอนยาบ้างในช่วง 1-2 วันแรก จากนั้นอาการดังกล่าวจะค่อยๆ หายไปเอง ซึ่งจุดนี้อาจต้องได้รับกำลังใจจากคนในครอบครัว เพื่อน และคนรัก

 

ที่มา : honestdocs

 

 

ไม่พลาดทุกข่าวสารสำคัญ เพียงแค่กดเป็นเพื่อน LINE @CANNHEALTH

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้