เสียดายผู้ป่วยมะเร็งที่แอบใช้น้ำมันกัญชา ไม่ได้อ่าน

Last updated: 15 พ.ค. 2562  | 

 

นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทยที่ กระทรวงสาธารณสุขในยุคนี้ซึ่งนอกจากแสดงความกล้าหาญในการยกเลิกไขมันทรานส์ ยังมีบทบาทอันสำคัญที่จะทำหน้าที่ประวัติศาสตร์ในการปลดล็อกกัญชาเพื่อให้ใช้ได้ในทางการแพทย์

ซึ่งขณะนี้อยู่ในมือของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะกรรมาธิการฯว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ทางการสาธารณสุขได้มากน้อยเพียงใด?

โดยในขณะนี้ได้มีผู้ป่วยจำนวนมากแอบใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคของตัวเองและคนในครอบครัว ทั้งๆที่ผู้ป่วยเหล่านี้ต่างก็มีความวิตกกังวลในคุณภาพของกัญชาที่แอบใช้กันอยู่ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าจำเป็นต้องใช้ จำเป็นต้องซื้อเพราะดีกว่าไม่มีให้ใช้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ป่วยที่มีการแอบใช้กันมากที่สุดในเวลานี้คือ ”ผู้ป่วยโรคมะเร็ง” !!!!

ข่าวดีที่ผู้ป่วยได้รับข้อมูลจากการโลกสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่องว่า “มีผู้ป่วยโรคมะเร็งหายป่วยจากการใช้กัญชา” ซึ่งกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งแอบใช้กัญชามากที่สุดอยู่ในขณะนี้

เพราะไม่ว่าสรรพคุณของกัญชาที่ว่า ทำให้นอนหลับ, ลดอาการปวด, ทำให้เจริญอาหาร, ทำให้ผ่อนคลายลดความเครียด สรรพคุณเหล่านี้อาจจะสามารถทดแทนด้วยยาอย่างอื่นได้

แต่ที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนมากที่ต้องมาแอบใช้กัญชา ถึงขั้นยอมเสี่ยงคดีอาญาหรือยอมเสี่ยงที่จะมีอาการต่อจิตประสาท หรือแม้แต่กล้าที่จะใช้ทั้งๆ ที่มีข้อสงสัยเรื่องคุณภาพของกัญชา เพราะผู้ป่วยโรคมะเร็งเหล่านั้นหวังผลไปไกลกว่านั้นคือเชื่อว่า “กัญชาจะช่วยรักษาโรคมะเร็ง”ได้ 

“ใช้น้อยไม่หาย ใช้มากไม่ตาย” คือคำเชิญชวนของพ่อค้าน้ำมันกัญชาสกัดรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งที่ขายใต้ดินกันอย่างเอิกเกริก เพราะถ้าผู้ป่วยใช้กัญชาตามคำเชิญชวนอย่างนั้นก็ยิ่งทำให้พ่อค้าน้ำมันกัญชาขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ร่ำรวยกันอย่างมหาศาล

“น้ำมันกัญชา” ที่มีการแอบใช้ใต้ดินกันอยู่ในขณะนี้ คือการใช้กัญชาอัดแท่ง เอามาละลายสารสำคัญให้ออกมาด้วยเอธานอล 95%-98% แล้วกรองกากกัญชาออกไป จากนั้นก็ต้มแอลกอฮอล์ที่ละลายสารสำคัญของกัญชาออกมาด้วยหม้อหุงข้าวหรือดูดีขึ้นมาอีกนิดคือใช้หลอดแก้วทดลองต้มโดยใช้เตาไฟฟ้าหรือหม้อหุงข้าว เพื่อใช้ความร้อนเพื่อไล่แอลกออฮอล์ออกไปจนเกือบหมดจนเหลือเพียงน้ำมันสีดำ หลังจากนั้นของเหลวน้ำมันที่เหลืออยู่พอจะเทออกได้ ก็มีนำไปใส่ถ้วยเล็กๆ เพื่อไปไล่แอลกอฮอล์ขั้นสุดท้ายในเตาอุ่นถ้วยกาแฟ จนเหลือแต่น้ำมันเหนียวข้นคล้ายยางมะตอยในอุณหภูมิปกติ gมื่อจะนำมาใช้งานก็ต้องนำมาอุ่นอีกครั้งให้พอเหลวตัว และบางคนก็ผสมกับน้ำมันชนิดอื่น เช่นน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันมะกอกเพื่อให้เหลวตัวสะดวกในการใช้งาน

วิธีการนี้คนทั่วไปก็สามารถทำได้ไม่ยากเพียงแค่เปิดยูทูปทำตามเมื่อค้นคำว่า “Rick Simpson” (ริค ซิมสัน) ผู้จุดประกายให้คนทั่วไปสกัดกัญชาเองได้ง่ายและสะดวก ถ้าไม่ถูกจับกุมติดคุกติดตะรางไปเสียก่อนจากกลิ่นกัญชาที่คลุ้งตลบอบอวลไปทั่วระหว่างการสกัดเพื่อให้ได้น้ำมันกัญชาออกมา

สถานการณ์ของประเทไทยในเวลานี้พบว่ามีความต้องการใช้กัญชาในทางการแพทย์มากขึ้นนั้น ก็ยิ่งทำให้สารสกัดในน้ำมันกัญชามีไม่เพียงพอ และคุณภาพที่ได้ก็เจือจางลงไปมาก 

พ่อค้าบางรายมีการใช้กากกัญชามาสกัดซ้ำหลายๆ รอบเพื่อประหยัดต้นทุน บางรายผสมน้ำมันมะพร้าวไปในสัดส่วนที่มากจนทำให้สารสำคัญยิ่งน้อยลงไปอีก ไม่ต้องพูดถึงการเร่งสกัดด้วยอุณหภูมิสูงๆหรือไม่ควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งเป็นผลทำให้สารสำคัญหายไปกับแอลกอฮอล์ที่ระเหยออกไปด้วย 

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ขอให้ผู้แอบใช้น้ำมันกัญชาทั้งหลายโปรดสังเกตผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาที่แอบใช้กันอยู่ในขณะนี้ว่าเหลวตัวมาก ไม่เหนียวข้นเหมือนยางมะตอย และมีกลิ่นกัญชาเจือจางมาก

แต่ก็อีกนั่นแหละ เนื่องจากกัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ผู้แอบใช้กัญชาส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นของเปรียบเทียบว่าสินค้าที่มีคุณภาพนั่นเป็นอย่างไร ทำให้พ่อค้าขายน้ำมันกัญชาจะขายในราคาเท่าไหร่ก็ได้ เจือจางเท่าไหร่ก็ได้ สารสำคัญจะเหลือเท่าไหร่ก็ได้ และอาจมีการปนเปื้อนสิ่งแปลกปลอมอย่างอื่นได้ด้วย เนื่องจากกัญชาเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายทั้งผู้ครอบครอง ผู้เสพ ดังนั้นจึงไม่มีองค์กรใดที่จะสามารถช่วยตรวจสอบคุณภาพกัญชาให้ผู้ป่วยได้เลย

นั่นหมายความว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งนอกจากจะต้องซื้อสารสกัดกัญชาที่แพงมหาศาลแล้ว ยังอาจได้ของคุณภาพต่ำด้วย และบางครั้งก็คิดว่าได้สินค้าราคาไม่แพงแต่น้ำมันกัญชาที่ได้กลับเจือจางมาก  ทำให้ต้องใช้น้ำมันกัญชาในปริมาณที่มากกว่าคนอื่นทั้งโลก และนี่คือเหตุผลว่าทำไมถึงได้ต้องเป็นสโลแกนของพ่อค้าขายน้ำมันกัญชาบางรายว่า “ใช้น้อยไม่หาย ใช้มากไม่ตาย”

อันที่จริงถ้าพ่อค้าน้ำมันกัญชาจะร่ำรวยมากเท่าไหร่ก็เรื่องหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องความพึงพอใจของผู้แอบซื้อและผู้แอบขาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจยุคนี้ก็มีมนุษยธรรมเพราะสงสารเห็นแก่ผู้ป่วยจึงไม่จับกุมปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ก็เพราะเชื่อว่าการใช้น้ำมันกัญชาอาจทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งหายป่วยได้จริง

แต่ข่าวร้ายที่ไม่ค่อยได้ยินความจริงอีกด้านหนึ่งคือ มีผู้ป่วยโรคมะเร็งที่แอบใช้ “น้ำมันกัญชา” เสียชีวิตไปแล้วจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ใช้น้ำมันกัญชาเป็นยาเดี่ยวที่คิดว่าจะสามารถเป็นยารักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้น้ำมันกัญชาเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องทำอย่างอื่นเลย

เพราะแม้ว่าการทดลองในหลอดทดลองจะพบว่าสารสกัดของกัญชาจะสามารถทำให้เซลล์มะเร็งฝ่อตัวและตายได้ หรืออาจจะทำให้เกิดการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในสัตว์ทดลองได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะสามารถนำมาใช้กับมนุษย์ได้เสมอไป เพราะผลข้างเคียงของสารสกัดกัญชานั้นกลายเป็นข้อจำกัดสำคัญที่จะนำมาใช้ในมนุษย์ได้

โดยเฉพาะฤทธิ์ของสาร THC ที่อยู่ในกัญชานั้นมีรายงานในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อปี พ.ศ. 2540 ว่ามีผู้ป่วย 4 รายได้รับผลร้ายในการออกฤทธิ์ทางจิตประสาท อีกทั้งยังทำให้เกิดความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร จากการรับประทานผักสลัดราดน้ำมันกัญชง ซึ่งมีสารออกฤทธิ์กลุ่มแคนนาบินอยด์กลุ่มเดียวกันกับกัญชา

ผลข้างเคียงของสารแคนนาบินอยด์ในกัญชงและกัญชาเป็นตัวออกฤทธิ์นั้น ยังมีปรากฏในรายงานกรณีศึกษาด้านโรคมะเร็งในวารสาร Case Reports in Oncology เมื่อปี พ.ศ. 2556 ว่าเมื่อมีการใช้น้ำมันกัญชงในเด็กวัย 14 ปี ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ปรากฏว่าน้ำมันกัญชงสามารถทำให้โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลดลงได้อย่างมีนัยะสำคัญ แต่ในท้ายที่สุดเด็กคนดังกล่าวนี้กลับเสียชีวิต ด้วยภาวะทางเดินอาหารทะลุ (bowel perforation)

ทั้งนี้ สารในกลุ่มแคนนาบินอยด์ที่มีทั้งในกัญชาและกัญชงมีผลข้างเคียงอยู่หลายประการ ได้แก่ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตตก ตาแดง หลอดลมขยายตัว กล้ามเนื้อคลายตัว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยคือผลข้างเคียงทำให้“ลดการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร”

ดังนั้นประโยคที่ว่าน้ำมันกัญชา “ใช้มากไม่ตาย”นั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป !!!

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่หายป่วยจากโรคมะเร็งโดยใช้น้ำมันกัญชานั้นก็มีอยู่จริงในโลกใบนี้ แต่คนเหล่านั้นเกือบทั้งหมดผ่านกระบวนการรักษาอย่างอื่นมาแล้ว หรือไม่ก็มีการบูรณาการหลายศาสตร์เข้ามาร่วมในการรักษาด้วย

ผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนหนึ่งที่ผ่านการคีโมบำบัดแล้วเมื่อใช้สารสกัดกัญชาก็มีอาการดีขึ้น ลดการอาเจียน ลดอาการปวด รับประทานอาหารได้ นอนหลับ ลดความเครียด เมื่ออาการเหล่านี้ลดลงจึงทำให้หายป่วยได้

ผู้ป่วยโรคมะเร็งอีกจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจใช้แพทย์ทางเลือก ที่ใช้การบูรณาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ทั้งการล้างพิษ, ควบคุมอาหาร, ใช้สมุนไพรอย่างอื่นร่วมด้วย เมื่อใช้กัญชาก็ทำให้เจริญอาหาร ลดอาการปวด ลดความเครียด จึงทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาดีขึ้น

ยกเว้นกรณีของโรคมะเร็งสมองที่ดูเหมือนจะมีข่าวดีจากกรณีศึกษาว่าสารสกัดจากกัญชามีโอกาสที่จะช่วยลดมะเร็งสมองได้ก้าวหน้ามากกว่าโรคมะเร็งชนิดอื่นในขณะนี้ 

แต่เฉพาะสรรพคุณยาในยุคปัจจุบันที่มีการจดสิทธิบัตรว่าสารสำคัญในกัญชาว่าช่วยลดอาการปวด, ทำให้นอนหลับ, เจริญอาหาร, ลดอาการเครียด, ฯลฯ สรรพคุณเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวเอเชียซึ่งเป็นต้นกำเนิดในการใช้กัญชานั้นรู้มานานมากแล้วนับหลายพันปี ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย

ดูตัวอย่างของศัพท์คำว่า “กัญชา” ของไทยนั้นเดิมสะกดว่า “กันชา” ซึ่งอ่านออกเป็นภาษาอังกฤษแบบเดียวกันว่า “Ganja” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตของประเทศอินเดีย โดยคำว่ากัน (Gan) แปลว่าความคิดหรือจินตนาการ และคำว่าชา (Jaa) มีความหมายว่าการเกิด ผลผลิต รวมความแล้วกันชามีความหมายว่า “ความคิดหรือจินตนาการกว้างไกล”

ทั้งนี้การใช้กัญชาในทางการแพทย์จากอายุรเวทของอินเดียเมื่อ 3,000-4,000 ปีที่แล้ว ตกทอดและพัฒนามาจนเป็นตำรับยาในแพทย์แผนไทยมาถึงปัจจุบัน

แม้แต่คำว่า “กะหรี่กัญชา” ซึ่งคนไทยนำมาใช้เรียกดอกตัวเมียกัญชานั้น แท้ที่จริงก็มาจากรากศัพท์คำว่า กะหรี่ (Curry) ก็มาจากประเทศอินเดียที่แปลว่า “แกง” หรือ แกงกะหรี่เพราะชาวอินเดียนำกัญชามาใช้ใส่แกงกระหรี่เพื่อทำให้รสชาติดีขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการใช้ดอกกัญชาจะใช้คู่กับเครื่องเทศในแกงของอินเดีย

สอดคล้องกับการใช้กัญชาเป็นส่วนหนึ่งของยาตำรับของการแพทย์แผนไทย ซึ่งลักษณะตำรับยานี้จะมีสมุนไพรหลายชนิดมาผสมร่วมด้วยเพื่อลดฤทธิ์อันเป็นผลเสียของกัญชาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรับยาที่เข้ากัญชานั้น ไม่ได้มีการสกัดสารสำคัญออกมาเหมือนยาในยุคปัจจุบัน ผลข้างเคียงจึงไม่รุนแรงเหมือนยาที่ออกมาในรูปของสารสกัดกัญชาที่เป็นยาเดี่ยว

แต่ข้อเด่นของยาที่ได้จากการสกัดสารกัญชาเป็นยาเดี่ยวในยุคปัจจุบัน คือสามารถกำหนดปริมาณยาของสารสำคัญได้ และมีผลงานวิจัยในหลอดทดลองมากขึ้นว่าสาร THC และ CBD มีส่วนช่วยทำให้เกิดการต้านการสร้างหลอดเลือดใหม่ของเซลล์มะเร็งหลายชนิด และทำให้เซลล์มะเร็งบางชนิดฝ่อตายได้  ซึ่งถ้าไม่สกัดออกมาได้สารสำคัญอันเข้มข้นก็ไม่มีทางจะรู้ความลับในเรื่องนี้ได้

โดยเฉพาะงานวิจัยที่ทุกคนควรจับตาและเฝ้ารอเพราะอาจจะเป็นความหวังของคนไทยทั้งประเทศ คือผลการวิจัยของวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เรื่องการใช้สารสกัดกัญชาเพื่อทดลองกับหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นทำให้เป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะประเทศไทยมากที่สุด และโอกาสรอดชีวิตจากวิธีการแพทย์แผนปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ

ดังนั้นงานวิจัยของวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งประสบความสำเร็จในหลอดทดลองมาแล้ว ในการสารสกัดของกัญชา THC เป็นผลทำให้เซลล์มะเร็งท่อน้ำดีจากผู้ป่วยโรคมะเร็งฝ่อตายลง ดังนั้นหากการทดลองในหนูทดลองเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะทำให้คำนวณกลับมาเพื่อทำให้รู้ปริมาณยาที่เหมาะสมที่ใช้วิจัยในมนุษย์ให้อย่าง “มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย”

ประเด็นปริศนาของกัญชาที่หลายคนยังเฝ้ารอคำตอบคือ ปริมาณการใช้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยนั้นจะไปถึงขั้นรักษาโรคมะเร็งให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้หรือไม่ หรือความปลอดภัยจะไปไกลสุดคือการลดผลข้างเคียงของการรักษาโรคมะเร็งด้วยการคีโมบำบัด ทำให้เจริญอาหาร นอนหลับ ลดอาการปวด ฯลฯ นั่นคือสิ่งที่ผู้ป่วยทุกคนเฝ้ารอความหวังอยู่

อย่างไรก็ตามสารสำคัญอย่าง THC ที่สกัดออกมาจากัญชามีผลเสียอยู่หลายด้าน เป็นผลทำให้มนุษย์ใช้ได้ในปริมาณอย่างจำกัด ดังนั้นผลงานวิจัยส่วนใหญ่ในโลกใบนี้ที่จะถึงขั้นใช้กัญชารักษาโรคมะเร็งในมนุษย์จึงยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหมดหวังเสียทีเดียว เพราะเมื่อย้อนกลับไปในรายงานข่าวของ MGR Online เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2559 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับรายหนึ่งในประเทศไทยซึ่งไม่เข้าสู่กระบวนการรักษาในแพทย์แผนปัจจุบันเลย สามารถหายป่วยจากโรคมะเร็งด้วยการกินยอดกัญชาวันละ 2 ช่อต้มกับน้ำร้อนดื่มวันละ 2 ครั้ง พอให้นอนหลับได้และเจริญอาหาร แล้วควบคุมอาหารงดเนื้อสัตว์ กินผักและโปรตีนจากพืช ผลปรากฏว่าผู้ป่วยรายนี้มีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ และหายป่วยจากโรคมะเร็งได้ในที่สุด 

ยอดกัญชาวันละ 2 ช่อนั้น นับเป็นปริมาณสารสำคัญของกัญชาที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับน้ำมันกัญชา หากข่าวที่ปรากฏนี้เป็นจริงย่อมแสดงให้เห็นว่าอาจไม่จำเป็นต้องใช้สารสกัดกัญชาในปริมาณที่มากให้มีผลต่อจิตประสาทรุนแรงเสมอไป แต่การใช้ในปริมาณที่น้อยพอให้หลับได้ ลดความเครียด และทำให้เจริญอาหารควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารอาจเป็นความหวังสำหรับผู้ป่วยโรคนี้ก็ได้ ซึ่งจะต้องวิจัยหรือเก็บกรณีศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้ในหลักสูตรวิถีชีวาเวชศาสตร์ รุ่น 1 และ 2 ซึ่งจัดโดยสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เคยเชิญผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคมะเร็งแล้วหายป่วยได้โดยไม่ได้ใช้การรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันมาให้นักเรียนสัมภาษณ์ พบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งเหล่านั้นหายป่วยได้ด้วยการ บูรณาการล้างพิษ ควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร โดยไม่ต้องอาศัยกัญชาเลย

เช่นเดียวกับการรักษาโดยใช้แพทย์แผนปัจจุบัน หรือแม้แต่การรักษาตามตำรับยาของแพทย์แผนไทย ก็ยังปรากฏว่ามีอีกหลายกรณีที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งหายป่วยได้โดยไม่ต้องใช้กัญชาด้วยเช่นกัน

ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า น้ำมันกัญชา “ใช้น้อยไม่หาย” ก็อาจจะไม่จริงเสมอไป เพราะแท้ที่จริงขึ้นอยู่กับว่าใช้กัญชาเพื่อเป้าหมายอะไร และบูรณาการกับการรักษาศาสตร์อื่นๆ อย่างไร !!!

สอดคล้องกับการใช้กัญชาในตำรับยาของการแพทย์แผนไทยนั้นจะใช้กัญชาในปริมาณที่ไม่มากนัก และถ้าจะใช้กัญชาเข้าในตำรับยาแล้วก็พบว่ามีการใช้ยาถ่ายและไล่ลมร่วมด้วย ดังเช่น พิกัดยาที่เรียกว่า “ตรีกฏุก” ซึ่งประกอบไปด้วยสมุนไพร 3 ชนิดคือ พริกไทย, ขิงแห้ง และดีปลี

ในพระคัมภีร์สรรคุณฯ (แลมหาพิกัต) ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งเป็นตำราแพทย์แผนไทยฉบับหลวง ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนังสือตำราแพทย์เล่มแรกของไทยที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบและเป็นทางการ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯให้ประชุมคณะแพทย์หลวง ดำนินการชำระสอบเทียบตำรับคัมภีร์แพทย์ที่ใช้กันมาแต่โบราณให้ถูกต้องตั้งแต่ พ.ศ. 2413 หรือเกือบ 150 ปีที่แล้วได้กล่าวถึงสรรพคุณ “ตรีกฏุก” เอาไว้ความตอนหนึ่งว่า :

“พริกไทย 1 ขิงแห้ง 1 ดีปลี 1 ทั้ง 3 นี้ระคนกันเข้าจึงชื่อว่าตรีกฏุก แปลว่าของเผ็ด 3 สิ่ง ถ้าผู้ใดได้บริโภคอาจระงับโรคอันบังเกิดแต่ลม แก้ดีแลในเสมหะในกองสมุฏฐาน ตามธาตุฤดูและอายุสมุฏฐานนั้นแล” 

ซึ่งสมุนไพรเหล่านี้งานวิจัยยุคใหม่ค้นพบว่าจะช่วยทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของลำไส้และช่วยลดลมในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งวิธีการนำกัญชา เข้ากับพิกัดยา “ตรีกฏุก”นี้จึงเท่ากับเป็นการลดผลเสียของการใช้กัญชาที่มาทราบกันในยุคปัจจุบันว่ามีผลเสียต่อระบบทางเดินอาหารได้

กรณีตัวอย่างของ ตรีกฏุก ที่ใช้คู่กับกัญชานี้จึงย่อมแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาไทยในอดีตที่มีความชาญฉลาดในการใช้กัญชามาหลายร้อยปีแล้ว ซึ่งยังไม่มีใครทราบว่าอีกกี่ร้อยปีกว่าที่งานวิจัยของยาฝรั่งจะไล่ตามทันความลึกซึ้งของภูมิปัญญานี้ได้

ตัวอย่างเช่นยาขนานหนึ่งที่ปรากฏอยู่ใน “ตำราพระโอสถพระนารายณ์”ซึ่งกล่าวถึงตำรับยาที่มีการเข้ากัญชาชื่อว่า “ยาศุขไสยาศน์” เป็นยาขนานลำดับที่ 44 ซึ่งทำให้สบายตัว นอนหลับสบายและเจริญอาหาร มีรายละเอียดดังนี้

“ยาศุขไสยาศน์ ให้เอาการบูรส่วน 1 ใบสเดา 2 ส่วน สหัสคุณเทศ 3 ส่วน สมุนแว้ง 4 ส่วน เทียนดำ 5 ส่วน โกฏกระดูก 6 ส่วน ลูกจันทน์ 7 ส่วน ดอกบุนนาค 8 ส่วน พริกไท 9 ส่วน ขิงแห้ง 10 ส่วน ดีปลี 11 ส่วน ใบกันชา 12 ส่วน ทำเป็นจุณ ละลายน้ำผึ้ง เมื่อจะกินเศกด้วยสัพพีติโย 3 จบ แล้วกินพอควร แก้สรรพโรคทั้งปวงหายสิ้น มีกำลัง กินเข้าได้ นอนเป็นศุขนักแล” 

ยาอีกขนานหนึ่งลำดับที่ 43 ใน “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” ชื่อ “ทิพกาศ” ซึ่งแก้ “สารพัดทั้งหลายอันให้ระส่ำระสาย” คือ ใช้แก้ความไม่สบายทุกอย่าง โดยเฉพาะที่ทำให้ “กินเข้า (กินข้าว)”ไม่ได้ นอนไม่หลับ ตกเลือด ตกหนอง ลงแดง ตามที่บันทึกไว้ในตำราดังนี้

“ยาทิพากาศ ให้เอายาดำ เทียนดำ ลูกจันทน์ กระวาน พิมเสน สิ่งละส่วน การบูร 4 ส่วน ฝิ่น 8 ส่วน ใบกันชา 16 ส่วน สุราเป็นกระสาย บดทำแท่งน้ำกระสายใช้ให้ชอบโรคร้อนแลเย็น แก้สารพัดทั้งหลายอันให้ระส่ำระสาย กินเข้ามิได้ นอนมิหลับ ตกบุพโพโลหิต ลงแดง หายแลฯ” 

“ยาทิพากาศ” ขนานนี้ปรากฏในหนังสือคำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์ ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษามหาราชา 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2542 ได้อธิบายวิเคราะห์ความลึกซึ้งเอาไว้ว่า

“ยาตำรับนี้เข้าเครื่องยา 9 ชนิด ตัวยาหลักคือ ใบกัญชา 16 ส่วน ตัวยารองคือฝิ่น ใช้ 8 ส่วน และการบูร 4 ส่วน เครื่องยาอื่นๆได้แก่ ยาดำ เทียนดำ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน และพิมเสน ใช้สิ่งละส่วน กัญชาและฝิ่นเป็นยาที่ทำให้กินข้าวได้ นอนหลับ ไม่รู้สึกเจ็บปวดทรมาน ยาดำที่ใช้ในตำรับนี้เป็นยาถ่าย โบราณเชื่อว่าเมื่อถ่ายได้ก็จะกินได้ ผู้ป่วยก็จะแข็งแรงและรู้สึกดีขึ้นเอง ส่วนเทียนดำ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน พิมเสน และการบูร เป็นยาขับลม และอาจแสดงฤทธิ์อื่นๆด้วย ตำราพระโอสถฯให้เอาเครื่องยาทั้งหมดบด ทำเป็นแท่ง โดยใช้สุรา(เหล้า) เป็นกระสาย เมื่อจะกินก็ให้ละลายน้ำกระสาย โดยให้เลือกน้ำกระสายให้ถูกกับโรคว่าร้อนหรือเย็น”

จะเห็นได้ว่าตำรับ “ยาทิพากาศ” นี้มีการใช้สุราเป็นน้ำกระสาย ซึ่งคนโบราณรู้ก่อนคนในยุคปัจจุบันมาหลายร้อยปีว่าต้องมีการใช้เอธิลแอลกอฮอลละลายสารสำคัญออกมาจากกัญชาและฝิ่น อย่างไรก็ตามทั้งยาศุขไสยาศน์และยาทิพากาศ ไม่มีการใช้ “ดอกกัญชา” เลย ใช้แต่เฉพาะ “ใบกัญชา” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขนาดฤทธิ์ของกัญชาที่มาจากส่วนใบซึ่งอ่อนกว่าดอกนั้น ยังต้องเข้าตำรับยาเพื่อแก้ฤทธิ์ผลข้างเคียงของกัญชาด้วย ดังนั้นถึงแม้สารสกัดกัญชาที่มาจากดอกกัญชาจะเข้มข้นกว่านี้ ตำรับยาไทยทั้ง 2 ขนานนี้ก็คงจะเลือกความปลอดภัยในการใช้ใบกัญชามากกว่าที่จะใช้ยาแรงจากดอกกัญชาเพียงอย่างเดียว

มาถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านอาจจะมีคำถามตามมาว่ามีตำรับยาไทยที่ระบุชัดๆ ว่าใช้กัญชารักษาโรคมะเร็งหรือไม่ ?

คำตอบคือมีหลายตำรับยาที่คนไทยในสมัยก่อนใช้สำหรับรักษาโรคในกลุ่มโรคที่เรียกว่า ฝี สันนิบาต กษัย ฯลฯ ซึ่งบางโรคในกลุ่มเหล่านี้อาจจะตีว่าคือโรคมะเร็งในยุคปัจจุบัน โดยไม่ได้ปรากฏว่ามีกัญชาเข้าในตำรับเลย แต่การใช้กัญชาในตำรับยาไทยนั้นอาจเป็น “ส่วนหนึ่งของหลายกระบวนการรักษา”เท่านั้น โดยมีข้อบ่งชี้ว่าเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเจริญอาหาร นอนหลับได้ เป็นหลักการสำคัญ

ดังเช่นในอดีตบางจังหวัดในประเทศไทยใช้ดอกกันชาปิ้งพอเหลืองกรอบ แล้วตำผสมกับน้ำพริกแกงเผ็ด ปรุงให้คนไข้ที่เบื่ออาหารรับประทานเพื่อให้เจริญอาหาร บางจังหวัดใช้น้ำในบ้องกันชากรอกให้คนเป็นอหิวาต์รับประทานเพื่อให้นอนหลับเมื่อตื่นขึ้นมาก็มีอาการดีขึ้น 

และคนในยุคปัจจุบันบางกลุ่มก็อาจจะยังเคยมีประสบการณ์ทันรับประทานก๋วยเตี๋ยวที่ใส่น้ำต้มใบกัญชาเพื่อชูรสทำให้รสชาติอาหารอร่อยขึ้นมาแล้วด้วย

ทั้งนี้ได้ปรากฏสรรพคุณของกัญชาในหนังสือแพทย์ตำบล เล่ม 1 ของพระยาแพทย์พงศา วิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) เมื่อปี พ.ศ. 2469 ว่า : “กัญชา ทำให้เมา ทำให้ใจขลาด รับประทานน้อยๆ เป็นยาชูกำลัง เจริญอาหาร ต้นกัญชาที่มีดอกเป็นช่อ ใช้ช่อที่มีดอกและผลทำยา ต้นสูงถึง 3 ถึง 10 ฟุต” 

นอกจากนี้ยังปรากฏในตำราประมวลหลักเภสัช โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ระบุว่า : “ดอกกัญชา ทำให้ง่วงนอนและอยากอาหาร, กัญชา รสเมาเบื่อเหม็นเขียว เจริญอาหาร ชูกำลัง แต่ทำให้ใจขลาด, เมล็ดกัญชา รสเมามึน เจริญอาหาร กินมากหวาดกลัว หมดสติ”

จะเห็นได้ว่าในสรรพคุณยาของกัญชาในแพทย์แผนไทยนั้นให้ใช้กัญชาในปริมาณน้อยเพื่อชูกำลังและเจริญอาหาร แต่ก็ตระหนักถึงผลเสียหากใช้มากเกินไปคือทำให้เกิดอาการทางจิตประสาท เมามึน และหมดสติ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นการใช้กัญชาในแพทย์แผนไทยจึงต้องใช้เป็นตำรับยาเท่านั้น และไม่ใช้กัญชาเป็นยาเดี่ยวเหมือนกับยาแผนปัจจุบัน

ยาอภัยสาลีของโบราณ ก็เป็นอีกตัวอย่างของยาขนานหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงในการเจริญอาหารและนอนได้มากก็เพราะผสมกัญชานี้ จนได้สมญาว่าเป็นยาอัศจรรย์และวิเศษต่างๆ  ดังปรากฏในตำราเวชศึกษา แพทย์ศาสตร์สังเขป ของพระยาพิษณุประสาทเวช ผู้จัดการโรงเรียนเวชสโมสร รัตนโกสินทร์ ศก. ๑๒๗ (พ.ศ. 2451) ได้ระบุยาในตำรับนี้ว่า

“ยาอภัยสาลี เอาลูกจันทน์ 1 สลึง ดอกจันทน์ 2 สลึง ลูกกระวาน 3 สลึง กานพลู 1 บาท ลูกพิลังกาสา 1 บาท 2 สลึง ว่านน้ำ 1 บาท 3 สลึง โกฐสอ 2 บาท โกฐเขมา 2 บาท 1 สลึง เทียนข้าวเปลือก 2 บาท 2 สลึง เทียนแดง 2 บาท 3 สลึง เทียนขาว 2 บาท เทียนตาตั๊กแตน 2 บาท 1 สลึง เจตมูลเพลิง 3 บาท สมอไทย 3 บาท 1 สลึง สมอเทศ 3 บาท 1 สลึง หัวบุกรอ 3 บาท 3 สลึง สหัศคุณเทศ 1 ตำลึง 2 บาท จันทน์เทศ 1 ตำลึง กัญชา 3 บาท 3 สลึง พลิกล่อน 1 ตำลึง กินเข้าเย็นทุกวัน แก้สารพัดลม 80 จำพวก แก้โลหิต 20 จำพวก แก้ริดสีดวง 20 จำพวก ยานี้กินได้ 3 เดือน หายโรคพยาธิมิได้มีเลย เป็นยาอายุวัฒนะ ทั้งเกิดปัญญารู้หลักนักปราชญ์มากกว่าคนทั้งปวง ถ้าผู้ใดพบให้ทำกินวิเศษนัก ใครกินยานี้ดุจยาทิพย์นั้นแลฯ” 



ดังนั้น หากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการฯที่กำลังพิจารณากฎหมายเพื่อปลดล็อกกัญชาอยู่ในขณะนี้ ควรจะช่วยกันพิจารณาทวงคืนกัญชาให้แพทย์แผนไทยอย่างเต็มกำลัง อย่าได้จำกัดจำนวนโรคที่ให้ใช้หรือจำกัดการวิจัย อย่าได้จำกัดกระบวนการวิจัยอย่างเภสัชสมัยใหม่ที่ไม่สอดคล้องกับวิธีการใช้กัญชาในแพทย์แผนไทย และควรเปิดโอกาสให้แพทย์แผนไทยได้กำหนดมาตรฐานในการใช้กัญชาโดยสภาแพทย์แผนไทยเอง



ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยทำให้รู้ได้ว่าจะใช้กัญชาอย่างไรเพื่อใช้ประโยชน์ที่พึงได้โดยไม่อันตราย แต่เภสัชยุคใหม่สามารถสกัดสารสำคัญได้แล้วมาวิจัยจนพบว่าสารสกัดสำคัญในกัญชาที่ใช้เป็นยาเดี่ยวสามารถช่วยรักษาโรคมะเร็งบางชนิดได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยในอดีตอาจไม่เคยทราบมาก่อน ซึ่งการแพทย์ทั้งสองส่วนต่างก็มีข้อดีและข้อเสียในตัวเองทั้งสิ้น และจะสามารถลดข้อเสียของทั้งสองส่วนได้ด้วยการ “บูรณาการภูมิปัญญาในอดีตกับงานวิจัยยุคใหม่”เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ นับเป็นความโชคดีของประเทศไทยซึ่งมีองค์ความรู้ที่ทันสมัยแบบยาแผนปัจจุบัน แต่ก็มีภูมิปัญญาชาติที่มีรากฐานที่สั่งสมกันมาอย่างยาวนาน ก็ไม่แน่ว่าอาจเกิดการบูรณาการในข้อมูลใหม่ที่ได้จากการวิจัยกัญชาในเภสัชศาสตร์ยุคใหม่ โภชนาการบำบัดที่มาจากงานวิจัยยุคใหม่ แล้วหาหนทางวิธีการนำกัญชามาใช้โดยอาศัยภูมิปัญญาของแพทย์แผนไทยมาประยุกต์ใช้ให้ได้มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย ซึ่งอาจเป็นหนทางในการพัฒนายาตำรับใหม่ที่กลายเป็นความหวังของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วโลก ถ้าสามารถลดอัตตาและลดกำแพงกั้นระหว่างวิชาชีพได้

เพราะดูเหมือนว่าคนที่จะรู้จัก “ศิลปะวิธีการใช้กัญชา” ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยในประเทศไทยคงจะมีอยู่น้อยมาก คงเหลือแต่มรดกที่มีมาอย่างยาวนานซึ่งปรากฏในศิลาจารึกและคัมภีร์พระราชทานจากบูรพมหากษัตริย์และบรรพบุรุษไทยให้เป็นหลักฐานกับการแพทย์แผนไทย ที่จะรอวันฟื้นคืนมาอีกครั้ง ให้เป็นที่พึ่งหวังกับผู้ป่วยที่เฝ้ารอคอยอยู่เป็นจำนวนมาก

และคนรุ่นเราเท่านั้นที่จะตัดสินใจว่าจะรับมรดกภูมิปัญญาการใช้กัญชาของบรรพบุรุษนี้ส่งมอบต่อให้กับคนรุ่นต่อไปอย่างไร

 

 

ที่มา : mgronline.com/daily

 

 

ไม่พลาดทุกข่าวสารสำคัญ เพียงแค่กดเป็นเพื่อน LINE @CANNHEALTH

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้